English
|
Thai
ELECTION ISSUE
เล่มที่ 2 พ.ย.50 - ก.พ.51
Dominic Faulder
Former President, Foreign Correspondents Club of Thailand Correspondent, Asia Inc.
GUEST WRITERS:
WHEN SHOVE COMES TO PUTSCH
โดย Dominic Faulder
ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ช่วงปี พ.ศ. 2520 เดินทางไปทั่วทวืปอเมริกาใต้ ช่วงเวลานั้นเรียกได้ว่าเกือบทุกประเทศในแถบนั้นมีการปกครองโดยรัฐบาลทหาร บางครั้งสามารถรู้สึกถึงความตึงเครียดได้ชัดเจน ที่ประเทศอาเจนตินาผมเกือบถูกยิงด้วยปืนกลหน้าสถานีตำรวจ และหลังจากนั้นไม่นานมีเหตุระเบิดที่สถานีรถประจำทางแห่งหนึ่ง ผมก็รอดพ้นจากเหตุการณ์นั้นเพียงแค่เส้นยาแดงผ่าแปด ในปารากวัยผมโดนขู่ด้วยดาบปลายปืนมาจิ้มอยู่ที่จมูก ส่วนในโคลัมเบียก็มีกลุ่มทหารลากผมเข้าไปซ้อมในซอย ตอนช่วงที่มีการประท้วงในเมืองหลวงโบโกตา ซึ่งมีการประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิต 60 ราย
นี่ผมไม่ได้แกว่งเท้าหาเสี้ยนนะครับ ………….
ประสบการณ์ประเภทนี้ละครับที่สร้างให้ผมเกิดความรู้สึกเคารพแบบระแวดระวังกับบุคคลในเครื่องแบบ รวมทั้งเป็นประสบการณ์ที่ช่วยเพิ่มสีสันให้งานเขียนของผมที่มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ "การเมืองในประเทศกำลังพัฒนา" จนกระทั่งผมได้เดินทางมาถึงประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2524 ที่ทำให้ผมได้มีประสบการณ์ตรงในเรื่องปฏิวัติรัฐประหาร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ชาวอังกฤษถือเป็นประเพณีว่าสามารถหลอกเล่นกันได้ หรือที่เรียกว่า April Fool’s Day วันนั้นเป็นวันที่ผมกำลังจะอำลาประเทศไทย ตื่นเต้นที่จะได้ไปประเทศใหม่ ผมเก็บข้าวของลงกระเป๋า จ่ายค่าโรงแรมเพื่อจะเดินทางไปสถานีขนส่ง และเพิ่งจะตอนนั้นแหละ ที่เจ้าหน้าที่โรงแรมถามว่าผมจะไปไหน
“กำลังเกิดการปฏิวัติ" เธอกระซิบกระซาบอธิบาย “ไม่มีรถไปไหนหรอกค่ะ"
"ถ้าอย่างนั้นคุณก็ต้องเปิดห้องพักให้ผมใหม่" ผมตอบเสียงสูงด้วยความรู้สึกว่าตัวเองโง่บัดซบ เป็นไปได้อย่างไรที่เกิดปฏิวัติขึ้นโดยไม่สังเกตุเห็นอะไรเลย
ตามความคิดของผม การปฏิวัติครั้งนี้ถือว่าล้มเหลวอย่างน่าสงสาร เพราะผู้นำปฏิวัติก็ต้องบินไปอยู่ที่พม่า เพื่อไม่ให้เสียหน้า อาจมีการเคลื่อนขบวนรถถังก็ได้ แต่สิ่งที่ผมเห็น มีเพียงทหารในเครื่องแบบ 2-3 นายนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวกันอย่างเอร็ดอร่อย อยู่แถวๆวัดพระแก้ว เอาปืนวางพิงกำแพงไว้ ผมไม่ทราบว่าทหารเหล่านี้เป็นฝ่ายไหน แต่เขาสุภาพมาก ไม่นานนักเหตุการณ์บ้านเมืองก็กลับสู่ปกติ ผมจึงได้เดินทางต่อตามแผนการเดิม ผมไปถ่ายรูปงาน Thingyan ( เปรียบเหมือนกับประเพณีสงกรานต์ของไทย ) ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
ประสบการณ์การปฏิว้ติในเมืองไทยครั้งแรกของผม ไม่ได้ช่วยเตรียมตัวผมกับการปฏิวัติครั้งที่สองเลย วันนั้น เป็นวันที่เรียกว่า "วันจันทร์ทมิฬ" 9 กันยายน 2518 ช่วงเช้าวันจันทร์ที่การจราจรติดขัดมาก ผมไปถึงสนามหลวงช้าไปหน่อย เริ่มถ่ายภาพรถถังในบริเวณนั้น รถถังดูโบราณพอควร ผมสังเกตว่าเครื่องยนตร์ทำงานอยู่ แต่ไม่ทราบเลยว่า เกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านี้บ้าง สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือการส่งข้อความสั้น (SMS) เช่นในปัจจุบันนี้
เพื่อนร่วมงานคนไทยคนหนึ่งหน้าซีดเซียวมาบอกผมว่า Neil Davis ตากล้องชาวออสเตรเลีย ผู้ผ่านสงครามมาอย่างโชกโชน ทั้งในกัมพูชา และเวียตนาม เสียชีวิต ขณะมีการยิงกันบริเวณใกล้ๆสถานีวิทยุกองทัพบก ผู้คุมเสียงชาวอเมริกันที่ชื่อ Bill Latch บาดเจ็บสาหัสถูกนำส่งโรงพยาบาล เพื่อนผู้สื่อข่าวชาวไทยอีกคนบอกผมในตอนหลังว่า สถานีวิทยุถูกถล่มไม่มีชิ้นดี มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 รายอยู่ในนั้น มีคนปลดผ้าม่านลงมาคลุมศพไว้
ฝ่ายรัฐบาลวางกองกำลังลงพื้นที่ และหลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดยิงกันทั้งๆที่มีชาวบ้านมุงดูอยู่ในบริเวณนั้นเต็มไปหมด บนถนนสามเสนขณะที่การจราจรติดขัดมาก มีการยิงกัน ลูกกระสุนวิ่งผ่านรถประจำทางโดยไม่มีใครบาดเจ็บเลย แต่มาถูกผู้หญิงที่นั่งอยู่ในรถแทกซี ต้องเสียชีวิตไป หญิงผู้นี้เป็นหนึ่งในจำนวนพลเรือนอย่างน้อย 4 คน ที่ต้องเสียชีวิตในวันนั้น ที่ไกลออกไปถึงแถวๆตลาดนนทบุรี ก็มีหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บจากลูกหลง เช่นกัน
แต่พอผมออกมาจากสถานที่เกิดเหตุ ก็พบว่า ผู้คนนั่งทานไอสกรีมกัน บ้างก็เข้าแถวรอทำธุระที่ธนาคาร คนเหล่านี้ไม่รู้เรื่องเลยว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีทหารระดับนายพลออกรายการทางโทรทัศน์ พยายามทำความตกลงให้ฝ่ายก่อการปฏิวัติยุติการเคลื่อนย้าย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะกันกลางเมืองหลวง มันช่างเป็นวันที่มืดมน ราวกับฝันไป เสมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้นเลย และไม่มีใครต้องรับผิดชอบ หรือถูกลงโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลยสักคน
ประสบการณ์การปฏิวัติรัฐประหารครั้งที่สามของผม ในประเทศไทย คล้ายกับครั้งแรกมาก หลังจากที่ได้อิ่มอร่อยกับข้าวราดแกง ผมก็กลับไปพักผ่อนที่บ้านเพื่อน ขณะที่ผมกำลังงีบหลับอยู่บนโซฟา ก็มีโทรศัพท์มาจากไซปรัส ทางปลายสายบอกผมว่า BBC รายงานข่าวว่า เกิดรัฐประหารในประเทศไทย …รัฐประหาร ? ในวันเสาร์นี่ล่ะนะ ? ตลกที่สุด ผมรีบออกไปข้างนอก ก็ทราบว่ามีรถถังออกมาวิ่ง 2-3 คัน เพียงชั่วไม่นานนัก แลัวก็กลับเข้าสู่กรมทหารตามเดิม ผมรู้สึกขายหน้าเหมือนเมื่อตอนเกิดเหตุในปี 2524 กลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในเมืองไทย โดยที่ผมไม่ทราบเลย ทั้งๆที่อยู่ที่นี่
ก็เกิดรัฐประหารจริงๆนั่นแหละ โดยมีการยึดตัวประกัน คือคณะรัฐบาล ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในเครื่องบิน C 130 กำลังเตรียมเดินทางสู่ภาคเหนือ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทหารกลุ่มหนึ่งปิดทางเข้า-ออกรัฐสภา รวมทั้งรอบบ้านนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ การทำรัฐประหารที่ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อเลยครั้งนี้ นอกเหนือจากปืนต่อสู้อากาศยานหน้าตาแปลกๆ แล้ว เราไม่ได้เห็นอาวุธยุทโธปกรณ์ ใดๆ อีกเลย
ข่าวเรื่องนี้ที่ผมส่งไปที่ลอนดอนเย็นวันนั้น กลายเป็นข่าวร้อน อยู่ในหน้าข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ Independent ฉบับวันอาทิตย์ แต่สิ่งที่เหลือเชื่อ ก็คือมีเรื่องราวจากต่างประเทศที่สำคัญยิ่งกว่ามากมายนัก คือการเกิดสงครามในตะวันออกกลาง ครั้งแรก ที่ กองทัพพันธมิตรบุกเข้าคูเวต แต่เป็นเพราะมีการปิดข่าวในยุโรป จึงทำให้เหตุเกิดบนถนนสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทย กลายเป็นข่าวใหญ่ ไม่มีข่าวไหนโด่งดังไปกว่านี้อีกแล้วในวันนั้น หากการทำรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นช้าไปเพียง 24 ชม. จะไม่มีใครนอกประเทศไทยรู้เรื่องนี้กันเลย
การที่ผมกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย ผมต้องบอกว่า รัฐประหารครั้งสุดท้ายนี้อาจเป็นครั้งที่นุ่มนวลที่สุด เป็นเรื่องของการปฏิบัติในเชิงการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่การแสวงหาอำนาจของกลุ่มทหาร ไม่มีการบาดเจ็บ และสนามบินสุวรรณภูมิก็ยังคงเปิดตามกำหนดการเดิม แม้ว่าจะไม่มีความพร้อมเท่าใดนัก รัฐประหาร ที่ประดับประดาด้วยดอกกุหลาบ และโบว์สีเหลือง ผมคิดว่า เป็นความน่ารักของสังคมไทย ในความเห็นของผม ผมรู้สึกว่ารัฐประหารครั้งนี้ค่อนข้างอบอุ่นและมีชีวิตชีวา
แต่ใช่ว่าเราสามารถจะมองข้ามเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ได้ การเผชิญหน้าที่ก่อให้เกิดการนองเลือดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ในช่วงไม่นานมานี้ คือ เมื่อเดือนตุลาคม ทั้งในปีพ.ศ. 2516 และ 2519 และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ประชาชนนับร้อยต้องมาเสียชีวิตโดยน้ำมือของทหาร –รั้วของชาติ ซึ่งมีหน้าที่ต้องปกป้องประชาชน ผมเองมีประสบการณ์ในประเทศพม่า ที่ฝ่ายทหารยึดอำนาจเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2531 และในกัมพูชา ที่ทหารของเจ้าชายนโรดม รณฤทธิ์ ต่อสู้กับทหารของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เมื่อปี พ.ศ. 2540 และความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับประชาชนก็ย่ำแย่ ล้มเหลว ผมบอกได้เลยว่า มันเป็นเรื่องเศร้า ที่น่ากลัวมากๆ
วินสตัน เชอร์ชิล ได้กล่าวไว้ว่า "ประชาธิปไตย เป็นรูปแบบการปกครองประเทศที่แย่ที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆที่ได้มีการทดลองใช้กันเป็นช่วงๆ ในอดีตแล้ว ถือว่าดีกว่ามาก" พวกเราเคยได้ยินคำพูดนี้กันแทบทุกคน แต่คำพูดนี้ไม่ได้มุ่งตรงไปที่ความหมายที่แท้จริงของคำว่าประชาธิปไตย เท่าใดนัก ซึ่งนั่นก็คือ กลไกการส่งผ่านอำนาจอย่างสงบเรียบร้อยเมื่อมีความจำเป็น พวกเราคงได้แต่หวัง ว่ากลุ่มนายทหารที่เข้ามาครองอำนาจในปัจจุบัน จะเดินลงจากอำนาจนี้อย่างนุ่มนวลเหมือนตอนที่เดินเข้ามา •
HONGSAKUL.COM
| ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP