English | Thai  





ELECTION ISSUE
เล่มที่ 2 พ.ย.50 - ก.พ.51



ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี

ศิษย์เก่า คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 
 
NEW GENERATION:
WHY I WANT TO BE A LAWYER

กฎหมายอากาศและอวกาศกับประเทศไทย
โดย ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี
     
                 
 
คนเราจะเป็นเจ้าของหรือมีกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ได้อย่างไร ใครจะเป็นเจ้าของดวงจันทร์ ของดาวอังคาร จะมีการออกโฉนดบนดวงจันทร์ได้หรือไม่ ในเวลานี้คำถามเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องตลก และดูเป็นคำถามเล่นๆ ไม่จริงจัง แต่ในอนาคตอีกไม่นานประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยจำเป็นต้องหาคำตอบที่ชัดเจนให้กับคำถามเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ การวางแผนและเตรียมพร้อมกับยุคโลกาภิวัตน์และการแข่งขันที่สูงขึ้นในธุรกิจด้านอากาศและ อวกาศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีการตรวจหาข้อมูลบนพื้นโลกจากดาวเทียมในอวกาศ (remote sensing) รวมไปถึงการถ่ายทอดเสียงและภาพทางวิทยุและโทรทัศน์ต่างต้องพึ่งพาดาวเทียม การคมนาคมขนส่งทางอากาศกลายเป็นการคมนาคมทางเลือกที่มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย อากาศยานและดาวเทียม ซึ่งเป็นวัตถุที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอากาศและอวกาศต่างถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในภาครัฐ และเอกชนทั้งในด้านความมั่นคง สาธารณสุข การสื่อสาร การศึกษา และการจัดการกับภัยพิบัติ (disaster management and emergency response) ดังนั้นการออกกฎหมายเกี่ยวกับอากาศ และอวกาศเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับด้านกฎหมายอากาศ ซึ่งในที่นี้หมายถึงกฎหมายเกี่ยวกับการเดินอากาศทั้งภายในและระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยต้องการจะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นจำเป็นต้องมีการตราและแก้ไขกฎหมาย กฎ ประกาศเกี่ยวกับมาตรฐานสนามบิน การบินทั้งในด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมและเสรีในธุรกิจการบินให้ได้มาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนและผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยจำเป็นต้องมีการออกกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับ Convention for the Unification of Certain Rules for the International Carriage by Air ในเรื่องความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างยกร่างพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศ และ Convention on International Interests in Mobile Equipment เกี่ยวกับการนำทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ได้ซึ่งในกรณีนี้คือเครื่องบิน มาเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ซึ่งเป็นกรณีที่ประเทศไทยต้องศึกษาถึงความจำเป็นและประโยชน์ในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวต่อไป

ในส่วนของกฎหมายเกี่ยวกับอวกาศนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ แม้โดยหลักการแล้วการสำรวจ และใช้อวกาศนั้นจะเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของนานาประเทศและรัฐทุกรัฐต่างมีสิทธิใช้ได้อย่างเสรี แต่ในทางปฏิบัติมีการตีความหลักการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์กับประเทศของตน ปัจจุบันประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายอวกาศ เช่นปัญหาการจัดสรรคลื่นความถี่ ปัญหาเรื่องสิทธิในภาพถ่ายจากดาวเทียม ยิ่งไปกว่านั้นการดำเนินกิจกรรมในอวกาศของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิเช่น การสร้างและใช้ดาวเทียม การตรวจหาข้อมูลบนพื้นโลกจากดาวเทียมในอวกาศ หรือแม้แต่การทำเหมืองแร่ในอวกาศหรือการส่งยานอวกาศในอนาคต ดังนั้นประเทศไทยในฐานะสมาชิกของประชาคมโลกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว แม้จะยังไม่มีผลบังคับที่เห็นได้ชัดโดยตรง แต่หากประเทศไทยไม่ปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว ย่อมส่งผลเสียในทางอ้อม อาทิเช่นการถูกใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในทางระหว่างประเทศ

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการบัญญัติกฎหมายอากาศและอวกาศให้เป็นสากลนั้นมีมากมาย อาทิเช่น การป้องกันประเทศไทยจากการถูกต่างชาติเอาเปรียบ การเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ การแข่งขันในธุรกิจสายการบินและโทรคมนาคมนับวันจะแข่งขันกันสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันหรือเพิ่มศักยภาพขึ้น กฎหมายที่ได้มาตรฐานจะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยพร้อมกับรักษาผลประโยชน์ของประเทศด้วย •
 



 
                 

 
HONGSAKUL.COM | ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP