English | Thai  





CONSTITUTION ISSUE
เล่มที่ 1 มิ.ย.-ก.ย. 50



อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
อดีตผู้บรรยายพิเศษ คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 
 
GUEST WRITERS:
การจัดความสำคัญของประชาธิปไตยไทย
โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
     
                 
 
สำหรับคนจำนวนมากแล้ว การรัฐประหารเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นเสมือนจุดสิ้นสุดของวงจรการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง หลายคนอาจมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปัญหาเก่าแก่ ที่มักเกิดขึ้นระหว่างนักการเมืองฝ่ายที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย กับฝ่ายข้าราชการประจำภายใต้การนำของกองทัพ ในขณะเดียวกัน หลายคนเชื่อว่าประเทศของเราก็ไม่แตกต่างอะไรจากประเทศอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือเส้นทางที่จะก้าวไปถึงความยั่งยืนของประชาธิปไตยยังอีกยาวไกล แล้วประเทศของเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบกติกาของประชาธิปไตยเช่นนี้ขึ้นอีก

ถึงแม้ว่าการเกิดรัฐประหารครั้งนี้จะดูไม่แตกต่างจากการยึดอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของไทยก็ตาม แต่ในมุมมองหนึ่งก็กล่าวได้ว่าประชาธิปไตยของไทยได้เดินหน้ามาพอสมควร แม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่ไม่ราบรื่นนักก็ตาม ทั้งนี้ เพราะว่าในปัจจุบันการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเรื่องปกติ แต่รัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งซึ่งมาจากการยึดอำนาจนั้น ได้กลายเป็นสิ่งผิดปกติของการเมืองไทย ซึ่งตรงกันข้ามกันกับสถานการณ์บ้านเมืองเมื่อ 4 – 5 ทศวรรษที่แล้ว แม้การก่อรัฐประหารมักตามมาด้วยความพยายามในการลิดรอนกระบวนการพัฒนาความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบันการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากคนไทยทุกคนมีความคาดหวังที่ชาติบ้านเมืองจะต้องกลับเข้าสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่มีการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองอีกครั้ง และเมื่อกาลเวลาผ่านไป การเมืองในระบอบประชาธิไตยก็ได้ซึมซับเข้ามามีบทบาทส่วนหนึ่งของชีวิตประชาชนในทุกระดับ วิวัฒนาการดังกล่าวทำให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ตลอดจนนโยบายของพรรคการเมืองก็ได้รับการพัฒนาให้มีความชัดเจนและจับต้องได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าดังกล่าวก็ยังไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าจะไม่มีการเกิดรัฐประหารขึ้นอีก แม้ว่าเราอาจคาดหวังให้ระบอบประชาธิปไตยจะนำไปสู่การเลือกตั้งรัฐบาลจากประชาชนได้ แต่ระบบนี้ก็ยังขาดประสิทธิภาพในการถอดถอนรัฐบาลที่มีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงเช่นครั้งนี้ นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐประหารน้อยครั้งมีเป้าหมายที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็รวมทั้งครั้งนี้ด้วย จึงเป็นเรื่องแปลกที่การยึดอำนาจเพื่อล้มล้างรัฐบาลทักษิณนั้น ผู้ก่อการรัฐประหารต้องทำลายล้างรัฐธรรมนูญซึ่งฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณได้พยายามปกป้องจากการละเมิดโดยรัฐบาลนั้น

ขณะนี้ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่ไม่เพียงแต่ต้องคืนอำนาจให้แก่ประชาชนแต่โดยเร็ว แต่จะต้องเร่งดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นรากฐานสำหรับประชาธิไตยให้ดีกว่าเดิม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้มีการทบทวนบทเรียนในอดีต พร้อมทั้งแยกแยะสิ่งที่เป็นจุดอ่อนและจุดแข็งของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่เราเคยใช้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ของโลกและภายในประเทศของเราเอง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังต้องมีการคาดการณ์ถึงแนวโน้มเพื่อสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอีกด้วย

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญ เนื่องจากเกิดจากกระบวนการร่างที่นับได้ว่าเป็นประชาธิปไตยและมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ทำให้เราได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทโดยตรง การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น และการมีเครื่องมือตรวจสอบการใช้อำนาจนอกเหนือจากการใช้ระบบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ถูกละเมิดโดยผู้มีอำนาจที่ไม่ได้คำนึงถึงเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์แม้แต่น้อย และถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ ที่ตรงต่อความต้องการของประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงควรใช้ฉบับปี 2540 เป็นรากฐาน โดยใช้หลักการ ดังนี้

ประการแรก รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเสริมสร้างบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพให้มีความแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม พร้อมทั้งมีมาตรการจำเป็นที่จะสามารถนำมาใช้ในการปกป้องการใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่ประชาชน หากไม่ทำเช่นนี้ก็จะเป็นการก้าวถอยหลังของการเมืองไทย ที่ไม่สอดคล้องกับกระแสโลก

หัวใจสำคัญก็คือจะต้องทำให้เกิดรัฐบาลที่ใช้อำนาจในขอบเขต โดยกำหนดหลักการเพื่อปกป้อง สื่อสารมวลชน ข้าราชการผู้บริสุทธิ์ การเมืองภาคประชาชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากภาครัฐ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคมที่ปกครองแบบประชาธิปไตย 5 ปีที่ผ่านมาความเป็นประชาธิปไตยดังกล่าวกลับถดถอยลงเนื่องจากผู้นำคิดว่าการที่เป็นรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ทำให้ได้อำนาจเด็ดขาดอย่างไม่มีขอบเขต จนนำมาซึ่งการเกิดสื่อที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ข้าราชการที่ทำตัวไม่เป็นกลาง การข่มขู่ฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมือง ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในรูปแบบของการฆ่าตัดตอน ซึ่งหมายถึงการที่ประชาชนไม่สามารถทำหน้าที่ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และพรรคการเมืองไม่สามารถแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมได้

ประเด็นที่สอง คือการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ ถ้าผู้ที่ครองอำนาจเชื่อว่าตนอยู่เหนือกฎหมายเมื่อใด ความยุติธรรมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ สิทธิเสรีภาพจะถูกละเมิด และจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการคอรัปชั่นตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย บทเรียนที่เราได้รับจากการที่องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ล้มเหลว คือ ประการแรก ไม่ควรมีบุคคลกลุ่มใดมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ องค์กรสำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตลอดจนคณะกรรมการการเลือกตั้ง เกิดความเสื่อมจากจุดนี้ องค์กรเหล่านี้จึงจำเป็นที่จะต้องถูกตรวจสอบเช่นกัน และต้องใช้การแต่งตั้งองค์กรอิสระขึ้นที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ เพื่อป้องการรวบรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จไปอยู่ภายใต้บุคคลเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเวลานาน ประการที่สอง คือ การที่เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงเข้าไปดำรงตำแหน่งใดๆ จะคงไว้ซึ่งความเป็นกลางโดยไม่โอนเอียงเข้าฝักใฝ่ฝ่ายใด ดังที่วุฒิสภาซึ่งควรที่จะกำกับดูแลการทำงานของสามองค์กรดังกล่าว ได้กลายมาเป็นจุดอ่อนที่สุดหลังจากที่ถูกครอบงำโดยรัฐบาล

ประเด็นที่สาม ถึงแม้ว่ารัฐบาลที่แล้วจะได้ดำเนินนโยบายผิดพลาดมากมายหลายประการก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่มีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของการเมืองไทย เพราะทำให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง ระบบพรรคการเมืองที่แข็งแกร่ง ยังทำให้เกิดทางเลือกที่ชัดเจนสำหรับประชาชน สามารถดำเนินการตามนโยบายทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยจับต้องได้ การมีรัฐบาลที่อ่อนแอเนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมที่ต้องเจรจาต่อรองกันไม่รู้จบ จึงไม่เป็นผลดีเพราะเท่ากับเป็นการดึงอำนาจจากมือของประชาชนไปสู่คนกลางที่เป็นนักต่อรองระหว่างพรรคการเมือง ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องไม่พยายามที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง แต่ควรพยายามทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องแก้ปัญหาระบบธุรกิจการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าบุคคลกลุ่มใดใช้เงินเข้ามาเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ก็จะทำให้พรรคหันไปตอบสนองบุคคลเหล่านั้น แทนที่จะสนองต่อความต้องการของประชาชนหมู่มาก และเมื่อใดที่นักการเมืองจะต้องใช้เงินจำนวนมากจนเกินกว่ารายได้ที่ได้รับตามกฎหมายแล้ว เมื่อนั้นการรับเงินใต้โต๊ะหรือคอรัปชั่นก็จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการบริจาคทรัพย์สินเงินทองให้แก่พรรคการเมือง รวมทั้งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้จ่ายของพรรคการเมืองอีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากระบบการซื้อเสียงและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ได้บั่นทอนไม่ให้การเมืองของไทยพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงมานานพอแล้ว

ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าจะไม่มีการก่อรัฐประหารขึ้นอีก แต่สิ่งที่เราแน่ใจได้ก็คือแรงกดดันและพลังขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยจะต้องมีพละกำลังมากขึ้นตามกาลเวลา อีกทั้งการก่อรัฐประหารในอนาคตก็จะสร้างความสูญเสียให้แก่ประเทศชาติมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน หน้าที่หลักของผู้มีอำนาจในปัจจุบันคือจะต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะเสริมสร้างรากฐานของประชาธิปไตยขึ้น จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของนักการเมืองตลอดจนประชาชนคนไทยทั่วไป ที่จะต้องช่วยกันพิสูจน์ให้เห็นว่าประชาธิปไตยของเราได้ก้าวหน้าไปไกลพอที่จะดูแลตนเองได้โดยไม่ต้องมีรัฐประหารขึ้นอีก •
 



 
                 

 
HONGSAKUL.COM | ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP