English | Thai  





CONSTITUTION ISSUE
เล่มที่ 1 มิ.ย.-ก.ย. 50



ชาญชัย ลิขิตจิตถะ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
อดีตประธานศาลฎีกา
                 
 
GUEST WRITERS:
หน้าที่สูงสุด
โดย ชาญชัย ลิขิตจิตถะ
     
                 
 
ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความโชคดีอย่างยิ่ง ที่มีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระประมุข ซึ่งทรงครองราชย์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานถึง 60 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระองค์ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของพสกนิกรในทุก ๆ ด้าน และทรงมีพระราชดำริแก้ไขในทุกสถานการณ์ ซึ่งรวมถึงทรงพระเมตตาพระราชทานแนวคิดและคำแนะนำแก่ศาลยุติธรรม เพื่อให้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญ และร่วมแก้ไขปัญหาของชาติ ภายใต้สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนหนึ่งจะเห็นได้จากกระแสพระราชดำรัส ที่ทรงพระราชทานในหลายโอกาสที่ข้าพเจ้า ในฐานะประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ดังพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 อันมีข้อความบางส่วนว่า

“...ในปัจจุบันนี้มีปัญหาทางด้านกฎหมายที่สำคัญมาก ... แต่ก่อนนี้มี มีอย่างเดียว มีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา ศาลแพ่ง เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่างอันนับไม่ถูก ก็เมื่อมี ก็ต้องให้ไปดำเนินการด้วยดี ดังนั้น ก็ขอให้ไปปรึกษากับศาลอื่น ๆ ด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยได้ ...”

“...เดี๋ยวนี้ประชาชน ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกา ศาลอื่น ๆ เขายังบอกว่าศาล ขึ้นชื่อว่าศาล ดี ยังมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีเหตุมีผล และมีความรู้ เพราะท่านได้ เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณาเรื่องกฎหมายที่จะต้องศึกษาดี ๆ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้ ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักของการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติไปไม่รอด อย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่มี ไม่มีสมาชิกสภาถึง 500 คน ทำงานไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาดูว่า จะทำยังไง สำหรับให้ทำงานได้...”

“...ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านได้พิจารณาดู กลับไปพิจารณา ไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลอะไรอื่น ๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะทำอะไร แล้วต้องรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมืองล่มจม ... ถ้าทำได้ ปรึกษาหารือกันได้จริง ๆ ประชาชนทั้งประเทศ และประชาชนทั่วโลก จะอนุโมทนา อาจจะเห็นว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาในเมืองไทยยังมี เรียกว่ายังมีน้ำยา และเป็นคนที่มีความรู้ และตั้งใจที่จะ ที่จะ กู้ชาติจริง ๆ ถ้าถึงเวลา...”

พระราชดำรัสที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น นับว่าทรงคุณค่าและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ในเชิงแนวคิดของทุกภาคส่วน ในการแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติบ้านเมืองโดยเฉพาะผู้ใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ซึ่งก่อนที่จะมีพระราชดำรัสดังกล่าว ดูเสมือนว่าปัญหาของชาติบ้านเมืองเดินมาถึงทางตัน ดูจะไม่มีแนวทางที่จะเยียวยาแก้ไข หรือหากจะพอคลี่คลายสถานการณ์ได้บ้าง ก็คงเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และอาจจะเกิดปัญหาที่มีลักษณะสะสม และทำให้ประเทศชาติอาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเอกภาพ หรือมีความสมานฉันท์ในปวงชนชาวไทย ได้อีกต่อไป จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะพระบารมีของพระองค์ที่ทรงปกเกล้าปกกระหม่อม ทรงชี้แนะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนัก และมีสติ เห็นปัญหาของชาติว่าเป็นปัญหาร่วมของทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่องค์กรด้านตุลาการ ซึ่งโดยที่ผ่านมาภารกิจที่ปฏิบัติจะเป็นในเชิงของการพิจารณาอรรถคดีเสียเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อศาลยุติธรรมได้นำพระราชดำรัสดังกล่าวเป็นแนวทางสำคัญ ในการปรึกษาหารือร่วมกับศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง จึงเกิดนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้ในหลาย ๆ เรื่อง อันเป็นการผ่อนคลายสถานการณ์และปัญหาของชาติบ้านเมืองได้ในระดับหนึ่ง •
   
                 

 
HONGSAKUL.COM | ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP