|
ถ้าจะหาคำนิยามสำหรับประเทศไทยในคำคำเดียว คำนั้นน่าจะเป็น “ความสมดุล” ผมเชื่อเสมอว่าหนึ่งในจุดแข็ง ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยคือ คนไทยมีความสามารถผสมผสานแนวคิดใหม่กับการรักษาความเป็นไทยไว้ได้อย่างมีเอกลักษณ์ ความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับชาวต่างชาติเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ไม่มีประเทศอื่นในแถบลุ่มน้ำแม่โขงที่สามารถหลุดรอดจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสหรืออังกฤษในศตวรรษที่ 19 ได้ หรือแม้แต่การไม่อยู่ใต้อำนาจระบบสังคมนิยมในศตวรรษที่ 20 ประเทศไทยเท่านั้นที่ยังคงความเป็นประชาธิปไตยและยังคงเดินหน้ารักษาไว้ต่อไป “ความสมดุล” คือกุญแจที่สำคัญและคนไทยเองก็รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี สิ่งที่สนับสนุนแนวความคิดได้ดี น่าจะเป็นเรื่องการเมือง แนวคิด หรือแม้แต่เรื่องธุรกิจที่ยังคงล้าหลังของประเทศอื่นๆในแถบลุ่มแม่น้ำโขง จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเจริญและอุดมสมบูรณ์ที่สุดในแถบนี้ หรือไปดูที่ประเทศมาเลเซีย แม้ที่ยังคงไม่ได้อยู่ในความสนใจมากนักก็มีความพยายามผลักดันให้เกิดความสมดุลระหว่างชนเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศ กับชนพื้นเมืองของมาเลเซียเองซึ่งทำให้คงสันติภาพภายในประเทศไว้ได้ และหลีกเลี่ยงการเกิดประหัตประหารทำลายล้างกันเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเชีย
ในแง่ของการลงทุนและแรงจูงใจต่อชาวต่างชาติ แนวคิดเรื่องความสมดุลก็ทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นทางเลือกแรกๆของนักลงทุนญี่ปุ่น และไต้หวันที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ รวมไปถึงประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติเลือกที่จะมาพักผ่อนในวันหยุด หรือใช้ชีวิตหลังเกษียณมากที่สุดในบรรดาประเทศแถบเอเซีย และการที่ประเทศไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความเด่นชัด และยึดมั่นทางด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานนั้น ทัศนคติต่อชาวต่างชาติย่อมไม่แน่นอน มีขึ้นมีลงอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนกับในหลายประเทศ มีบางประเทศที่กำลังเจริญเติบโตก็ต้อนรับชาวต่างชาติอย่างไม่มีข้อแม้ แต่พอนักลงทุนต่างชาตินำเงินกลับประเทศ การตอบโต้ก็จะเกิดขึ้น ผมจำได้ว่าในช่วงการเลือกตั้งในสมัยคุณทักษิน ชาวต่างชาติเข้าใจว่าคุณทักษินเป็นพวก “ต่อต้านชาวต่างประเทศ” แต่กลับกลายเป็นว่า คุณทักษินเปลี่ยนจากคนรักชาติเป็น “คนขายชาติให้กับประเทศสิงคโปร์” เราคงต้องยอมรับว่ากระแสการเมืองไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเหตุการณ์นี้ ก็เน้นให้เห็นถึงความเปราะบางของการพยายามรักษาความสมดุลระหว่างการถูกครอบงำโดยชาวต่างชาติ กับ ความร่วมมือและการถ่ายทอด นวัตกรรม จากชาวต่างชาติ
การเกิด รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกด้านลบ การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของรัฐบาลชั่วคราวก็ยิ่งส่งผลให้ชาวต่างชาติสูญเสียความเชื่อมั่นมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดในเวลาที่ควรจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา เหตุการณ์แรกก็คือ เรื่องนโยบายการควบคุมเงินสำรองของประเทศไทยในวันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งเป็นการตอบโต้แบบผิดๆต่อเงินบาทที่แข็งค่า (ที่จริงแล้วก็เป็นปัญหาที่ดีเหมือนกัน) จนมาถึงเรื่อง การทบทวนพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2541 ซึ่งช่วงเวลาที่ประกาศออกมานั้น สถานการณ์ยังคงอ่อนไหวส่งผลให้การลงทุนจากต่างชาติชะลอตัวลง เหตุการณ์สุดท้ายคือ การกวดขันของระบบการขอวีซ่าเข้าประเทศของรัฐบาลทักษิน แต่มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2549 นโยบายทั้งหมดที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ก็ทำให้เกิดความลำบากใจกับผู้เกี่ยวข้องชาวต่างชาติทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศ เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องระลึกว่าชาวต่างชาติไม่ใช่คนกลุ่มเดียว เราสามารถแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 4 ประเภท ซึ่งแตกต่างกันไปตาม ลักษณะ ความเข้าใจ และสิทธิต่างๆ กลุ่มแรกเป็นนักธุรกิจต่างชาติที่เป็นผู้ก่อให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจัดว่าเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมไทย หลังจากการปฏิวัติหรือรัฐประหารแต่ละครั้ง นักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะปรับกลยุทธ์เป็น Wait and See คือ “รอดูก่อน“ จนกว่าจะได้รับทราบนโยบายที่แน่นอนของรัฐบาลชุดใหม่ การทบทวนและบังคับใช้ ที่เข้มขวดของ พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไม่ค่อยมีผลต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะพวกเขาได้รับการคุ้มครองโดย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แต่กลับส่งผลกระทบอย่างมาก และเป็นผลกระทบโดยตรง ต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ บางครั้งเราอาจเกิดคำถามว่า ใครต้องการพวกเขาเหล่านี้ แต่ความจริงก็คือ กลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเป็นผู้อัดฉีดเงินให้บริษัทจดทะเบียนมีเงินทุนเพียงพอตามที่ต้องการ และน่าคิดว่าบริษัทเหล่านี้จะรอดจากวิกฤติทางการเงินตอนปี 2540 หรือไม่ ถ้าไม่มีเงินทุนของกลุ่มนี้ ตอนนี้บริษัทในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นซึ่งเห็นได้ชัดว่ามาจากความช่วยเหลือในอดีตและปัจจุบันด้วย
นอกจากนี้ นักลงทุนก็มีทางเลือกในการลงทุนในประเทศอื่นๆ สิ่งที่นักลงทุนกลัวไม่ใช่ความไม่มั่นคงทางการเมือง แต่ที่จริงแล้วคือความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางด้านนโยบายมากกว่า ลองจินตนาการความรู้สึกของนักลงทุนที่ อยู่ๆตื่นมาในเช้าวันหนึ่งและพบว่าประเทศไทย (ซึ่งได้กลายเป็นตลาดทุนที่ได้รับความสนใจต่ำมาก ดังเห็นได้จากการที่มีมูลค่าน้อยที่สุดในเอเชีย) จะกันเงิน 30% ของผู้ลงทุนมาเฉยๆ โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆเลย แม้จะยังโชคดีที่ยังมีการทบทวนใหม่และยกเลิกนโยบายนั้นไป แต่ความเสียหายอันมหาศาลได้เกิดขึ้นแล้ว และคำถามก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหมู่นักลงทุนว่า “แล้วจะมีอะไรอีก?” แม้นักลงทุนประเภทมาเร็วไปเร็วอย่างพวก Hedge Fundจะกลับมาแล้ว แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวอย่างพวก Pension Fund จะต้องใช้เวลาเป็นอีกพักใหญ่เพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อนที่จะแค่พิจารณาว่าจะ กลับเข้ามาลงทุนอีกครั้งหรือไม่
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะมาอยู่ระยะยาว หรือระยะสั้น หรือ มาเพื่อรักษาสุขภาพ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีความสำคัญมาก ชาวต่างชาติที่มาพักผ่อนในช่วงวันหยุดจะให้ความสำคัญกับการพักผ่อน ดังนั้นความปลอดภัยจึงเป็นปัจจัยหลักของพวกเขา ทั้งจากรัฐประหารและเหตุการณ์วางระเบิดหลายจุดในวันสิ้นปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ประเทศไทยถูกจับตามองถึงความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นอีก แต่ยังโชคดีที่เรื่องนี้ดูพอจะไม่หนักหนา เพราะจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยสึนามิผู้ซึ่งยังจดจำความใจดีและความกล้าหาญของคนไทยในเหตุการณ์นั้นได้ รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาสุขภาพที่ได้เปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงด้านความปลอดภัยกับความพอใจในบริการชั้นเลิศที่ได้รับ หากวางแผนอย่างดี เรายังคงพอจะสร้างความมั่นใจให้ชาวต่างชาติกลุ่มนี้ได้
นักท่องเที่ยวที่มาอยู่แบบระยะยาวและ กลุ่มผู้เกษียณ แม้จะยังกังวลด้านความปลอดภัย แต่พวกเขายังรู้สึกปลอดภัยเพราะเขามีความเข้าใจวัฒนธรรมไทยพุทธที่ฝังแน่นอยู่ในประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวผ่อนคลายความกดดันทางการเมืองได้ในที่สุด สิ่งที่จะส่งผลกระทบกับคนกลุ่มนี้คือเรื่องความสามารถในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและ การขอวีซ่า เจ้าของบ้านพักต่างอากาศที่ร่ำรวยสามารถเข้าร่วมโครงการ “Thailand Elite” และได้อายุวีซ่า 5 ปี (แต่ไม่มีสิทธิ์ซื้อที่ดินมากกว่า 5 ไร่) สำหรับผู้เกษียณจะต้องมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปถึงจะขอวีซ่าสำหรับผู้เกษียณได้ แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นจะต้องขอวีซ่าแบบ 1 เดือนซึ่งสามารถต่ออายุได้ไม่เกิน 3 ครั้งและสามารถอยู่ในเมืองไทยได้เพียงสามเดือนเท่านั้นในช่วงเวลาทุกๆ หกเดือน ทราบกันดีว่า มาตรการนี้มีเพื่อการจำกัดแรงงานผิดกฏหมายจากพม่าและเขมร ไม่ใช่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ผู้ที่พวกเราคิดว่า น่าจะได้รับการต้อนรับให้อยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้น ทำไมไม่กำหนดกฎเกณฑ์การออกวีซ่าที่เหมาะสมสำหรับแต่ประเทศซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่ำต่างกัน ดังตัวอย่างที่ฮ่องกง ที่ให้วีซ่า 6 เดือนแก่พลเมืองของบางประเทศ ส่วนประเทศที่ไม่ได้กำหนดไว้ ก็ได้วีซ่า แบบ 14 วัน
ในประเด็นเรื่องการถือครองสิทธิในอสังหาริมทรัพย์นั้น นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการมาซื้อบ้านเพื่อพักผ่อนหรืออยู่อาศัยชั่วคราว หรือที่เรียกว่า holiday homes นั้น ยังต้องเผชิญกับทางเลือกที่จะซื้อและถือครองกรรมสิทธิ ในอสังหาริมทรัพย์อย่างคอนโดมิเนียม (ซึ่งสัดส่วนต่างชาติสูงสุดในการถือครองคือ 49% ของพื้นที่ใช้สอยในแต่ละตึก) การเช่าสิทธิในบ้านพักตากอากาศ หรือการซื้อและครอบครองกรรมสิทธิถาวรในบ้านพักตากอากาศในรูปแบบหุ้นส่วน โดยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยที่เชื่อถือได้ร่วมถือด้วย มีหลายหนทางที่จะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมีความน่าดึงดูดมากขึ้นโดยไม่ต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่ว่า ผู้ถือครองที่ดินยังคงต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น แนวทางแรกก็คือการปรับระดับการถือครองพื้นที่คอนโดมีเนียมของชาว ต่างชาติเป็นร้อยละ 100 โดยให้สิทธิส่วนใหญ่ในการดูแลบริหารเป็นของนิติบุคคลที่เป็นสัญชาติไทย และถือสิทธิเสียงข้างมากโดยคนไทย อีกทางเลือกหนึ่งคือให้มีการแบ่งเขตอย่างชัดเจนให้บางพื้นที่เป็น “Non-sensitive area” โดยให้ชาวต่างชาติมีสิทธิถือครองได้ หรือการเพิ่มระยะเวลาการเช่าที่ดินจาก 30 ปี เป็น 50, 100, หรือแม้แต่ 1,000 ปี ในแนวเดียวกับการปฏิรูปที่กล่าวมาแล้วนั้นยังสามารถนำมาใช้กับสิทธิการถือครองถาวรหรือ การถือครองในระยะเวลาที่ยาวขึ้นในบ้านพักอาศัยและบ้านพักตากอากาศ นอกจากนี้อีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นไปได้ คือการกำหนดโควตาการถือครองกรรมสิทธิแบบถาวรในอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ เหมือนใน Guernsey ที่มีใบรับรองสิทธิเป็นสิ่งจูงใจนักลงทุนชาวต่างชาติ ความชัดเจนที่ได้จากการปฎิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายการถือครองกรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ จะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาดบ้านพักตากอากาศ เฉกเช่น สเปน ดูไบ สิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย
สุดท้าย ปัจจัยที่ถือได้ว่ามีผลหรืออิทธิพลมาก คือ กลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยในสายวิชาชีพต่างๆ เช่น นักการทูต นักการธนาคาร นักกฎหมาย นักการโรงแรม ผู้สื่อข่าว นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้นำเข้าส่งออก นายหน้าค้าหุ้น เป็นต้น บุคคลกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับทุกเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น และนับว่ายังเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อนักลงทุนชาวต่างชาติกลุ่มอื่น โดยการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสภาหอการค้าและแวดวงสังคมของตนอีกด้วย ในปัจจุบันเรื่องที่ยังคงสร้างความกังวลให้กับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ คือเรื่องการยกร่างแก้ไขพรบ.ธุรกิจต่างด้าว ที่มีการกำหนดในเรื่องการเปิดเผยโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แท้จริง ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้เสนอกรณียกเว้นโทษให้กับบริษัทที่พยายามจะปรับโครงสร้างให้ถูกต้องตามที่กำหนดแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญเรื่องนโยบาย “Grandfathering” ที่กล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการอนุญาตให้บริษัทที่อยู่มานานและมีชาวต่างชาติถือหุ้นเกินร้อยละ 49 สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเดิม ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นได้ในทางปฎิบัติ ก็จะถือได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศเปิดเสรีอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังคงเป็นช่วงต้องจับตามองว่าจะมีกี่บริษัทที่จะประกาศโครงสร้างตามความเป็นจริง และหากประกาศแล้วจะได้รับการยกเว้นโทษตามที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้ หรือไม่ เราคงต้องรอการหารือเพิ่มเติมระหว่างสภาหอการค้าและกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ แม้ว่าในปัจจุบันสภาหอการค้าจะแสดงจุดยืนโดยท้วงติงว่าไทยไม่มีสิทธิและไม่ควรแก้ไขกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วนี้
สภาหอการค้าต่างประเทศอาจจะต้องยอมรับว่าธุรกิจของชาวต่างชาติตกอยู่ภายใต้ผลของความขัดแย้งที่ร้อนแรงของการเมืองไทย เห็นได้ชัดจากกรณีการขุดคุ้ยเรื่องการขายหุ้นกลุ่มชินวัตรให้กับ Temasek ส่วนเรื่องการบังคับใช้และการแก้ไข พรบ. ธุรกิจต่างด้าวนั้น ความจริงแล้วก็คงจะตกเป็นภาระต่อเนื่องไปถึงรัฐบาลชุดหน้า เพราะว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้เวลา 12-24 เดือน กับบริษัทที่ร่วมหุ้นกับต่างชาติ ในการดำเนินการปรับโครงสร้าง โดยที่มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดหน้าอาจนำเรื่องดังกล่าวมาทบทวนใหม่ ในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยควรปรับให้มีเสรีมากขึ้น หากทำไม่ได้ทั้งหมดก็อาจจะเน้นในบริษัทที่อยู่ใน “บัญชี 3” เพื่อให้ชาวต่างชาติถือครองเป็นเสียงข้างมากได้ ในความเป็นจริงนั้น นักลงทุนต่างชาติยังคงต้องการสรรหาหุ้นส่วนสัญชาติไทยที่มีความสามารถในการบริหารจัดการระบบปฏิบัติงานได้ ส่วนใครจะเป็นผู้ได้ครองสิทธิ์ส่วนใหญ่นั้นก็ขึ้นกับความชำนาญการและสัดส่วนเงินลงทุน นอกเหนือจากนี้ บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยยังคงต้องอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์และข้อกฎหมายของไทย เช่น กฏหมายภาษี กฎหมายแรงงาน รวมทั้งกฏหมายสิ่งแวดล้อม และระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นถึงแม้สิทธิการถือครองส่วนใหญ่จะเป็นของชาวต่างชาติ แต่ก็ถือว่าบริษัทยังคงมีความเป็นสัญชาติไทยอยู่
สำหรับผมแล้ว จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ถือเป็นบทสรุปได้อย่างดีว่า ทำไมชาวต่างชาติ เช่นตัวผม ยังอยากที่จะอยู่และทำงานที่นี่ต่อไป เมื่อเดือนที่แล้ว ผมไปรับคุณพ่อที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในขณะที่ผมก็เพิ่งบินกลับมาจากภูเก็ต ตอนที่ผมกับคนขับรถกำลังรีบขนสัมภาระทั้งหมดของคุณพ่อขึ้นรถตู้ แต่ลืมกระเป๋าคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ที่รถเข็น ซึ่งแน่นอนว่ากว่าจะรู้ตัวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดหายไปก็เมื่อถึงที่พักแล้ว ในกระเป๋ามีทั้งคอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูปและเอกสารสำคัญ ในขณะที่กำลังจะโทรหาเลขาให้ช่วยติดตามให้ ก็มีโทรศัพท์มาจากแผนกของสูญหาย ( Lost baggage ) ของสนามบิน แจ้งว่าได้เก็บกระเป๋าของผมที่ลืมทิ้งไว้ที่สนามบินไว้ให้แล้ว โดยสืบค้นจากนามบัตรที่ใส่ไว้ในกระเป๋า เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความอัศจรรย์ใจต่อคุณพ่อผมอย่างมาก ท่านแทบไม่เชื่อว่ากระเป๋าจะไม่หายวับไปกับตา ทันทีที่คุณลืมทิ้งไว้ หรือไม่ก็น่าจะถูกขโมยทรัพย์สินมีค่าก่อนจะมีการทิ้งกระเป๋าเปล่าไว้ให้เป็นที่สงสัยว่าเป็นการลอบวางระเบิด เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามบินในนิวยอร์ก หรือเหมือนอย่างในกรุงลอนดอน ที่แค่เห็นกระเป๋าเดินทางของตัวเองอีกครั้งตอนรอรับกระเป๋าจากสายพาน คุณก็รู้สึกดีใจมากๆแล้ว อย่างไรก็ตามผมก็ไม่ลืมที่จะตอบแทนความมีน้ำใจต่อผู้ที่นำกระเป๋าส่งคืน สำหรับผม ประสบการณ์นี้เป็นตัวอย่างของความมีจิตใจที่ดีงาม เปี่ยมด้วยน้ำใจที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงของคนไทย ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร ไม่ว่าจะมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างไรในประเทศนี้ ผมก็ยังคิดว่า ที่นี่ก็ยังเป็นประเทศไทย ที่ผมคิดว่าพวกเราชาวต่างชาติทุกคนยังคงได้รับการต้อนรับ อย่าง อบอุ่นเสมอมา... •
|
|
|
|