English
|
Thai
CONSTITUTION ISSUE
เล่มที่ 1 มิ.ย.-ก.ย. 50
คงกต ยงสวัสดิ์กุล
ทนายความ
ศิษย์เก่า คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
NEW GENERATION:
ทำไมผมจึงอยากเป็นทนายความ
โดย คงกต ยงสวัสดิ์กุล
ผมเชื่อว่านักศึกษาส่วนใหญ่ซึ่งตัดสินใจเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์นั้น คงมีไม่กี่คนที่ได้คิดถึงเหตุผล หรือตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ตนเลือกเรียนในคณะนี้ ต้องยอมรับว่าผมเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นด้วย ในการเลือกคณะ ผมคำนึงถึงปัจจัยง่ายๆเพียงไม่กี่ข้อ เช่น ค่านิยมทางสังคมหรือผลตอบแทนที่ได้รับ โดยไม่ได้คำนึงถึงภาระหน้าที่และอุดมการณ์ที่นักกฎหมายพึงมีเลย เหตุผลก็คงเป็นเพราะในตอนนั้นผมเองไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วกฎหมายคืออะไร สำหรับผม คำตอบต่อคำถามเหล่านี้เพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก็เมื่อตอนเรียนในชั้นปีที่ 3หรือปีที่ 4แล้ว
ในตอนนี้ ผมมองกฎหมายว่าเป็นเครื่องมือหรือกลไกสำหรับทำให้สังคมดำเนินหรือเคลื่อนตัวไปได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อขัดแย้งขึ้นในสังคม กฎหมายจะถูกนำมาใช้หรือถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น มุมมองต่อกฎหมายของผมนี้มักจะถูกถามกลับว่า “แล้วปัญหาวุ่นวายที่เกิดขึ้นมากมายในตอนนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากกฎหมายหรืออย่างไร” สำหรับผมแล้ว คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีและน่าคิดเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อลองพิจารณาปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว ปัญหาใหญ่ๆที่เถียงกันไม่รู้จบ ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องและมักจบลงด้วยความขัดแย้ง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากตัวกฎหมายแทบทั้งสิ้น บ้างก็ว่ากฎหมายเขียนไม่ชัดเจน บ้างก็ว่ากฎหมายมีช่องว่าง “ แล้วอย่างนี้ กฎหมายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาหรือเป็นตัวก่อปัญหากันแน่ และกฎหมายยังจำเป็นต่อสังคมอีกหรือไม่” ในความเห็นของผม กฎหมายเป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหา และเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคม แต่เนื่องจากไม่มีภาษาใดในโลกที่จะอธิบายได้ทุกการกระทำของมนุษย์ ทั้งผู้ที่สามารถจะร่างกฎหมายได้โดยครอบคลุมทุกกรณีก็หาได้ยากยิ่ง ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ เราไม่สามารถสร้างกฎหมายที่สมบูรณ์แบบได้ บทสรุปนี้เองที่นำมาสู่คำตอบสำหรับตัวผมว่า ผมมีบทบาทหน้าที่อย่างไรในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง สำหรับผม นักกฎหมายเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้กฎหมายซึ่งแข็งกระด้างมีชีวิตชีวา เป็นผู้ปรับใช้กฎหมายให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นและทันสมัย จากมุมมองดังกล่าว การที่เราจะสร้างและรักษาความยุติธรรมในสังคม นอกจากกฎหมายที่ดีแล้ว ผมเชื่อว่านักกฎหมายที่ดีก็เป็นสิ่งมีขาดเสียมิได้ นี่อาจเป็นสาเหตุ ที่ผมต้องการเป็นนักกฎหมาย ผมรู้สึกภูมิใจที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะสร้างความถูกต้องและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
นอกจากภาระหน้าที่ในแง่ของการเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมใในสังคมแล้ว นักกฎหมายคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงหน้าที่ในฐานะที่เป็นกลไกของภาคธุรกิจไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกฎหมายที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือทนายความซึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่จากภาคธุรกิจ ปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ตัวรายได้ แต่อยู่ที่บทบาทของนักกฎหมายเหล่านั้น ในสำนักงานกฎหมายหลายๆ แห่งปฏิบัติต่อลูกความไม่ต่างไปจากลูกค้า จนบางครั้งลืมถึงภาระหน้าที่ที่มี และพึงปฏิบัติต่อสังคม จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าแท้ที่จริงแล้ว นักกฎหมายเหล่านั้นเป็นผู้รับใช้สังคมหรือลูกความของตนกันแน่ ข้อนี้เป็นปัญหาที่ผมที่ได้เคยพูดคุยกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยมาบ้างแล้ว หลายคนบอกว่าบทบาทหน้าที่ที่ขัดกันนี้เป็นเรื่องที่น่าลำบากใจ จนบางคนถึงกับอ้างเหตุผลดังกล่าวว่าเหตุใดตนจึงเลือกที่จะรับราชการในอนาคต แต่ในส่วนของตัวผมนั้นกลับมองว่าบทบาทหน้าที่ดังกล่าวมีความท้าทายและน่าสนใจเป็นอย่างมาก นั่นคือในขณะที่เราต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของลูกความอย่างเต็มที่นั้น เรายังต้องเฝ้าระวังรักษาผลประโยชน์สาธารณะ มิให้ถูกล่วงละเมิดในอีกทางหนึ่งด้วย หลายครั้งเราอาจต้องทำหน้าที่ที่ถูกจับตามองและขัดต่อความรู้สึกของสังคม แต่ภาระของเราก็คือการจัดการทุกอย่างอย่างสมดุล ไม่นำความเสียหายมาสู่ลูกความและต้องตอบคำถามต่อสังคมถึงความเหมาะสมและความถูกต้องในสิ่งที่เราทำได้ด้วย หน้าที่และความรับผิดชอบที่ท้าทายนี้เอง ที่ทำให้ผมสนใจและเลือกที่จะเรียนรู้การทำงานในส่วนนี้ ด้วยความคาดหวังว่าวันหนึ่งผมจะสามารถจัดการต่อภาระหน้าที่ทั้งสองด้านให้สอดคล้องไปด้วยกันอย่างเหมาะสมได้
ผมไม่ทราบว่าทั้งหมดนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมยังคงต้องเรียนรู้ แน่นอนว่าการทำหน้าที่ในฐานะนักกฎหมายที่ดีคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อย นี่จะเป็นสิ่งที่ผมยึดถือปฏิบัติในก้าวแรกของวิชาชีพนี้ และหวังที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้ในวิชาชีพนี้อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะรับประสบการณ์จากนักกฎหมายท่านอื่นๆ เพื่อจะได้นำมาใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อสังคมส่วนรวมต่อไป •
HONGSAKUL.COM
| ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP