English | Thai  





CONSTITUTION ISSUE
เล่มที่ 1 มิ.ย.-ก.ย. 50



ภิมุข สิมะโรจน์

Former Deputy Government Spokesman, Thaksin Administration
                 
 
GUEST WRITERS:
ความเสมอภาคในการศึกษาคือจุดเริ่มต้นของความเสมอภาคในโอกาสของชีวิต
โดย ภิมุข สิมะโรจน์
     
                 
 
ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนามาเป็นเวลานาน นานจนเราอาจจะลืมตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะสามารถยกระดับตนเองให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ และสำหรับพลเมืองธรรมดาคนหนึ่ง การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมีความหมายอะไรต่อเขา ในบทความนี้ ผมขอยกประเด็นในเรื่องความเสมอภาคที่จะสร้างหรือยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจำแนกคนออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มคนขยันและคนไม่ขยัน โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น หรือ เพศ กลุ่มคนที่ขยัน ทำงานหนัก ก็จะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม จากโครงสร้างของสังคมที่มีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน พวกเขาสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน มีรายได้ที่ดีและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ไม่ว่างานที่พวกเขาทำจะเป็นการใช้แรงงานหรืองานที่ไม่ได้มีหน้าตาอะไรในสังคม ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะได้อะไรมาง่ายๆ กลุ่มคนที่ไม่ขยันและทำงานยังไม่มากพอก็จะไม่ได้รับโอกาสที่สังคมสร้างรองรับไว้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามโครงสร้างสังคมไทยนั้นยังมีความแตกต่างจากปรัชญาข้างต้น สังคมของเรามีการจำแนกคนออกเป็นสองกลุ่มอย่างเห็นได้ชัดคือกลุ่มคนที่มีโอกาสและกลุ่มคนที่ขาดโอกาส สังคมลักษณะนี้ ประตูมักเปิดกว้างเสมอสำหรับคนที่มีโอกาส มีเส้นสายทางสังคมและมีฐานะทางการเงินดี คนกลุ่มนี้มักจะได้รับโอกาสดีๆ ในชีวิต มีหน้าที่การงานดี มีรายได้สูง ในขณะที่กลุ่มคนที่ขาดโอกาส ชีวิตมักต้องทำงานหนัก โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ใช้แรงงานหรือเป็นลูกจ้างที่ไม่ค่อยมีโอกาสเติบโตในองค์กรมากนัก และแน่นอนรายได้ของพวกเขานั้นไม่ค่อยเพียงพอแม้ว่าจะทำงานหนักเพียงใด จึงเป็นการยากเหลือเกินที่กลุ่มคนเหล่านี้จะสามารถยกระดับมาตรฐานชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้นได้ ทั้งๆที่เวลาส่วนใหญ่ของพวกเขาหมดไปกับการทำงาน อะไรที่ทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ และเราจะแก้ไขกันอย่างไร

ในโลกแห่งความเป็นจริง การจะหยิบยื่นโอกาสที่เท่าเทียมกันในทุกๆ ด้านให้แก่ประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่เราก็สามารถลดช่องว่างดังกล่าวได้โดยการเริ่มต้นที่เรื่องของการศึกษา ในทุกสังคมการศึกษาถือได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญเพื่อเปิดประตูสู่โอกาสต่างๆ ซึ่งสังคมก็ต้องสร้างโอกาสในด้านอื่นๆไว้รองรับต่อทีละขั้น เช่น โอกาสในการทำงาน โอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งทุน โอกาสที่จะมีที่อยู่อาศัยของตนเองตามความเหมาะสม ฯลฯ การศึกษาช่วยพัฒนากระบวนการคิดของมนุษย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาให้เกิดสังคมที่ดี เมื่อคนในสังคมได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอแล้ว สังคมนั้นก็จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีมาตรฐานที่ดีอย่างถ้วนหน้าและมีความเสมอภาคอย่างแท้จริง

ตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ทุกรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษามาโดยตลอด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชน และประเทศในการที่จะก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของสังคมแห่งการเรียนรู้ แต่ในปัจจุบันการลงทุนในด้านการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งความไม่เสมอภาคกันในทางเศรษฐกิจ ยังทำให้คนไทยจำนวนมากขาดโอกาสที่จะส่งเสียลูกหลานให้เรียนในโรงเรียนที่มีมาตรฐานดีและในระดับที่สูงขึ้น ทุกวันนี้การศึกษามีการแข่งขันที่สูงมาก การเข้าเรียนโรงเรียนดีๆมีมาตรฐานสูงก็มีข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า เส้นสายต่างๆ หรือค่าเล่าเรียนที่สูง ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นว่า สังคมกำลังจะมุ่งเน้นให้คนสร้างฐานะทางเศรษฐกิจเพื่อสามารถให้ลูกหลานเข้าโรงเรียนที่ดีเหล่านั้นได้ หรือสังคมควรจะมุ่งเน้นในการปรับมาตรฐานของโรงเรียนต่างๆให้มีความเท่าเทียมกัน โดยไม่ว่าคนมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างก็จะได้รับการศึกษาที่ใกล้เคียงกันและทำให้ปัจจัยข้างต้นไม่เป็นข้อจำกัดอีกต่อไป

ผมมีข้อเสนออยู่ 2 แนวทาง
1) รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณในเรื่องผลตอบแทนให้กับครูเพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน และต้องอยู่ในระดับที่สูงพอที่อาชีพครูเป็นทางเลือกแรกๆ ของสังคม รวมทั้งพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้กับเยาวชนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้รัฐบาลอาจปรับลดงบประมาณในเรื่องการก่อสร้างที่ไม่จำเป็นหรือส่วนอื่นๆเพื่อเป็นการชดเชย ตรงนี้อาจจะดูว่าจับต้องไม่ได้แต่ผมเชื่อว่านี่คือการลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศ อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวมีการพูดกันมากแต่ไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง ดังนั้น เราควรลองคิดนอกกรอบในแนวทางต่อไปคือ
2) ใช้ประโยชน์จากโลกของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมาช่วยแก้ไขปัญหาความแตกต่างในเรื่องมาตรฐานการศึกษา เราคงต้องเน้นในระดับประถมจนถึงก่อนอุดมศึกษาเพราะมีความหลากหลายในเนื้อหาไม่มากนัก เป็นที่เชื่อกันว่าโรงเรียนที่ดีนั้นก็มักเพราะมีครูที่ดี และสามารถสอนให้นักเรียนมีความรู้ความที่ดี ในขณะที่เด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารก็มักจะไม่มีโอกาสเข้าถึงการเรียนการสอนในมาตรฐานนั้นได้ ดังนั้นหากเราใช้วิธีให้เด็กนักเรียนศึกษาโดยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งถ่ายทอดการเรียนการสอนจากศูนย์กลางซึ่งทำหน้าที่ผลิตวิชาความรู้พื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นหรือใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยอาศัยครูที่มีความรู้ความสามารถและได้รับการยอมรับในพื้นที่นั้นๆ โดยอาจจะเริ่มต้นโดยมีศูนย์กลางในลักษณะนี้อยู่หลายแห่งกระจายทั่วทุกภาค และในที่สุดอาจมีเพียงศูนย์เดียวที่สร้างมาตรฐานเดียวกันก็ได้ ส่วนครูที่อยู่ประจำโรงเรียนนั้นๆก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมและให้คำแนะนำแก่นักเรียนที่เรียนรู้วิชาพื้นฐานผ่านระบบข้างต้น ทั้งนี้ในส่วนของวิชาเฉพาะที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้เหมือนกัน เช่น วิชาพละ ศิลปะ ฯลฯ ครูในโรงเรียนนั้นๆก็ยังทำหน้าที่เหมือนเดิมและครูยังมีความสำคัญในการเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับนักเรียน การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาข้างต้นจะสามารถลดช่องว่างของความแตกต่างในเรื่องมาตรฐานการเรียนการสอนได้ โดยที่ผู้ปกครองและนักเรียนก็จะมั่นใจได้ว่าในวิชาพื้นฐานที่เราเรียนอยู่ในโรงเรียนนั้นไม่แตกต่างจากสิ่งที่เพื่อนๆ ในโรงเรียนอื่นเรียนอยู่ และตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคด้านการศึกษาได้

โดยสรุปความไม่เสมอภาคกันในเรื่องของโอกาสต่างๆ ในชีวิตเป็นอุปสรรคสำคัญในการยกระดับมาตรฐานชีวิตทั้งในระดับบุคคลและครอบครัว ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนและประเทศนั้นๆ อีกด้วย ดั้งนั้นการแก้ปัญหาควรเริ่มต้นที่ความเสมอภาคด้านการศึกษา เราควรที่จะกระตุ้นให้ทุกๆ ฝ่ายในสังคมช่วยกันสร้างความเท่าเทียมกันในการศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง มิเช่นนั้น การจะส่งเสริมให้ประชาชนของเรามีโอกาสที่เท่าเทียมกันในด้านอื่นๆ ก็คงเป็นไปได้ยาก ข้อเสนอข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะคิดและนำเสนอแนวทางแก้ปัญหา ทั้งนี้ก็เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญในการสร้างความเสมอภาคในการศึกษา เพื่อประเทศของเราจะได้มีอนาคตที่สดใสและ ก้าวไปสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยสมบูรณ์ •
   
                 

 
HONGSAKUL.COM | ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP