English | Thai  





CONSTITUTION ISSUE
เล่มที่ 1 มิ.ย.-ก.ย. 50



ปราโมทย์ โชติมงคล

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
                 
 
GUEST WRITERS:
ผู้หญิงควรรู้เรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
โดย ปราโมทย์ โชติมงคล
     
                 
 
บทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในการคุ้มครองสิทธิสตรี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยอยู่ในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 26 ถึง มาตรา 65 ซึ่งมาตรา 30 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียว กับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”

จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญได้คุ้มครองสตรีให้มีสิทธิและเสรีภาพทัดเทียมกับบุรุษ นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญได้กำหนดสิทธิของบุคคลที่จะเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และฟ้องหน่วยราชการไว้ ดังนี้

มาตรา 61 “บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

มาตรา 62 “สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิด เนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ดังนั้นหากสตรีได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ย่อมมีสิทธิที่จะเสนอเรื่องร้องทุกข์ หรือฟ้องหน่วยราชการได้ โดยมีกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นกลไกหนึ่งที่ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ พิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนให้ประชาชน และนำกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัย


หลักเกณฑ์ในการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีดังนี้

ผู้มีสิทธิร้องเรียน
• บุคคลและคณะบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายโดยไม่เป็นธรรม หรือผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือเรื่องที่จะร้องเรียน
• กรรมาธิการของวุฒิสภาหรือกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรได้สอบสวนหรือพิจารณาและส่งเรื่องให้ดำเนินการ

การเสนอเรื่องร้องเรียน
สามารถเสนอเรื่องร้องเรียนได้หลายวิธี ได้แก่ นำส่งด้วยตนเอง ส่งทางไปรษณีย์ มอบให้บุคคลอื่นนำส่ง ส่งผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือการร้องเรียนทางโทรศัพท์ หมายเลข 1676 (โทรฟรี)

วิธีการเสนอเรื่องร้องเรียน
• เรื่องร้องเรียนที่ทำเป็นหนังสือจะต้องระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องเรียน ระบุเหตุที่ทำให้ต้องร้องเรียน ใช้ถ้อยคำสุภาพ และลงลายมือชื่อผู้ร้องเรียน
• การร้องเรียนด้วยวาจาจะต้องแจ้งชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ (ถ้ามี) ของผู้ร้องเรียน แจ้งเลขประจำตัวประชาชน หรือเลขที่หนังสือเดินทางของผู้ร้องเรียน แจ้งเหตุที่ทำให้ต้องร้องเรียนด้วยวาจา พร้อมด้วยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนด้วยวาจาตามสมควร ใช้ถ้อยคำสุภาพ และยินยอมให้มีการบันทึกเสียงคำร้องเรียนไว้เป็นหลักฐาน

เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่รับไว้พิจารณา
• เรื่องที่เป็นนโยบายซึ่งคณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เว้นแต่การปฏิบัตินโยบายดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
• เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว
• เรื่องที่มิได้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
• เรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลหรือการลงโทษทางวินัยของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น
• เรื่องที่ผู้ร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามวิธีการยื่นเรื่องร้องเรียน

การพิจารณาเรื่องร้องเรียน
• เรื่องที่ไม่ให้รับไว้พิจารณาหรืออาจไม่รับไว้พิจารณา จะส่งเรื่องให้หน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณี
• เรื่องที่ไม่รับไว้พิจารณาหรือยุติเรื่อง จะแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบพร้อมทั้งเหตุผล
• เรื่องที่รับไว้พิจารณาต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็ว และเปิดโอกาสให้ทั้ง ผู้ร้องเรียนและบุคคลหรือหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนชี้แจงและแสดงหลักฐานตามสมควร
• เรื่องใดไม่อาจสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไปได้ ให้ยุติเรื่องนั้นและรายงานให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรทราบ
• เมื่อพิจารณาและสอบสวนเรื่องใดเสร็จแล้ว ให้ทำรายงานสรุปข้อเท็จจริงพร้อมทั้งความเห็น และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขส่งให้หน่วยราชการทราบหรือดำเนินการต่อไป


นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้รับเรื่องร้องเรียนจากสตรี (เฉพาะผู้ที่เปิดเผยชื่อในการร้องเรียน) จำนวนทั้งสิ้น 3,409 เรื่อง คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 26 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด โดยเรื่องร้องเรียนที่ยื่นเข้ามาให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาดำเนินการแก้ไขจนแล้วเสร็จ เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาต่างๆ อันเนื่องจากความไม่เป็นธรรมจากการปฏิบัติ ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐทุกระดับ ทุกประเภท โดยมิได้มีการเลือกปฏิบัติว่าเป็นเรื่องที่ร้องเรียนโดยผู้ร้องเรียนเพศหญิงหรือเพศชาย ประเด็นที่ถูกร้องเรียนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ตำรวจ ที่ดิน การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น สาธารณูปโภคและ การศึกษา

กรณีตัวอย่างเรื่องร้องเรียน

ผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 12 ที่บัญญัติว่า "หญิงมีสามีให้ใช้ชื่อสกุลของสามี" เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อสตรี ซึ่งถือว่าพระราชบัญญัติดังกล่าว มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 30

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 12 ซึ่งได้บัญญัติให้หญิงที่มีสามีที่ได้สมรสกันตามกฎหมายต้องเปลี่ยนชื่อสกุลของหญิงนั้นมาเป็นชื่อสกุลของชายสามีที่สมรส เป็นการบัญญติให้เกิดความไม่เสมอภาคทางกฎหมายระหว่างชายและหญิงที่มีสามี ทำให้หญิงมีสามีต้องถูกจำกัดสิทธิในการใช้ชื่อสกุล และการบัญญัติให้หญิงมีสามีใช้ชื่อสกุลของสามียังเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ และสถานะของบุคคลเพราะเป็นการบังคับแต่เพศหญิงที่มีสามีเท่านั้น ทำให้สิทธิเสรีภาพในการใช้ชื่อสกุลของหญิงมีสามีถูกจำกัด ไม่มีสิทธิในการเลือกใช้ชื่อสกุล ซึ่งแตกต่างกับชายที่ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิในการใช้ชื่อสกุลในกรณีที่มีภรรยาไว้แต่อย่างใด จึงทำให้หญิงมีสามีไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับชายที่มีภรรยา ซึ่งเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 30 ที่บัญญัติรองรับให้ชายและหญิงได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน และเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุผลความแตกต่างในเรื่องเพศ และสถานะของบุคคลด้วย ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงมีความเห็นว่าพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 12 บัญญัติให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลของสามี น่าจะเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นดังกล่าว ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวแล้วเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มีลักษณะเป็นบทบังคับให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลของสามีเท่านั้น อันเป็นการลิดรอนสิทธิในการใช้ชื่อสกุลของหญิงมีสามี เกิดความไม่เสมอภาคกันทางกฎหมาย อีกทั้งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากการบังคับให้หญิงมีสามีใช้ชื่อสกุลของสามีเพียงฝ่ายเดียวโดยใช้สถานะการสมรส ดังนั้น พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 12 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ เพราะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 30 เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 6 มีรายละเอียดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 21/2546 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2546

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 ส่งสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา และแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 เพื่ออนุวัตตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือซักซ้อมแนวทางปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไปยังสำนักทะเบียนอำเภอและท้องถิ่นทั่วประเทศ ดังนี้

1. กรณีหญิงมีสามีไม่ประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของสามีก็สามารถกระทำได้ตามนัยแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว

2. หากหญิงมีสามีประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของสามีก็สามารถกระทำได้ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 12 เพราะหญิงมีสามีมิได้ใช้สิทธิตามข้อ 1 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2546

3. การใช้คำนำนามสตรีให้ถือปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสตรี พระพุทธศักราช 2460 เช่นเดิม

4. การใช้ชื่อสกุลของบุตรเป็นไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1561 เช่นเดิม

นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 ไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำเป็นกระบวนการตราพระราชบัญญัติด้วยแล้ว โดยในส่วนของมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ได้เสนอให้ใช้ความใหม่ ดังนี้

“มาตรา 12 คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกันเมื่อมีการสมรส ในกรณีที่ไม่มีการตกลงกัน ให้ต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

ในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงเมื่อมีการสมรส คู่สมรสจะตกลงกันระหว่างสมรสก็ได้

ข้อตกลงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง คู่สมรสจะตกลงเปลี่ยนแปลงภายหลังก็ได้”

ในการนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้รายงานผลการดำเนินการตามเรื่องร้องเรียนดังกล่าวให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาทราบเป็นกรณีพิเศษ ตามความในมาตรา 33 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และแจ้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ผู้ร้องทราบแล้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นที่คาดหมายกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวเนื่องกับสตรี หรือเรื่องร้องเรียนที่ร้องเรียนโดยสตรีเพิ่มมากขึ้น เพราะเห็นได้ชัดว่าในปัจจุบันผู้หญิงมีความตระหนักและมีความตื่นตัวเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองมากขึ้น ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็จะทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่ง ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกคนได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ องค์กรเอกชนด้านสวัสดิการสตรีรายงานว่า บางครั้งโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่อำเภอ จะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อของสตรีมีครรภ์ที่ไม่ได้สมรสจาก “นางสาว” เป็น “นาง” โดยอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย และแม้ว่าสตรีเหล่านี้จะไม่มีทั้งทะเบียนสมรสหรือทะเบียนหย่า สตรีที่ไม่มีเอกสารดังกล่าวต้องประสบกับความยากลำบากอย่างมาก ในการขอเอกสารราชการอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต่อการดำเนินธุรกรรมและติดต่อราชการ นอกจากนี้องค์กรเอกชนเหล่านี้ยังรายงานว่า ข้าราชการสตรีจะถูกดำเนินการทางวินัย หากมีคู่ครองโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือมีบุตรนอกสมรส •




ความเป็นมาของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

ในสมัยสุโขทัยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยอยู่ที่พ่อขุน หรือพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ในสมัยนั้นประชาชนมีสิทธิเสรีภาพค่อนข้างกว้างไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพในเรื่องการค้า ในด้านทรัพย์สิน สิทธิในการรับมรดก และสิทธิเสรีภาพที่สำคัญคือสิทธิเสรีภาพในการร้องทุกข์ โดยประชาชนที่ทุกข์ร้อนใจจะมาสั่นกระดิ่งที่ปากประตูเมือง เมื่อพ่อขุนรามคำแหงผู้เป็นเจ้าเมืองได้ยินก็จะเรียกมาถามและพิจารณาตัดสินหาความชอบธรรมให้ และนับตั้งแต่นั้นมาสิทธิในการร้องทุกข์ของราษฎรได้กลายเป็นประเพณีในการทำฎีการ้องทุกข์ทูลเกล้าถวายพระมหากษัตริย์

จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเปลี่ยนไปเป็นประเพณี “ตีกลองร้องฎีกา” แทน แต่สาระสำคัญก็ยังคงเดิม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475 พระมหากษัตริย์ได้ทรงลดสถานะมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ วิธีปฏิบัติทางการปกครองมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง ฎีการ้องทุกข์ที่มีจำนวนมากถูกส่งไปยังฝ่ายบริหาร และเกิดแนวคิดที่จะควบคุมฝ่ายบริหารจากประชาชน โดยอำนาจในการควบคุมฝ่ายบริหารจะถูกส่งผ่านจากประชาชนไปยังฝ่ายนิติบัญญัติ ในรูปแบบของสถาบันพิจารณาตรวจสอบรับเรื่องราวร้องทุกข์

ก่อนปี พ.ศ. 2516 ความคิดเกี่ยวกับการควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหารยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบที่มิได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองประเทศปกครองโดยอำนาจเด็ดขาด และได้รับการสนับสนุนจากกำลังทางทหาร การเสนอความคิดเห็นในเรื่องการควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหารจึงไม่อาจกระทำได้กว้างขวางนัก เพราะไม่สอดคล้องกับบริบททางการเมืองในขณะนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 มีนักวิชาการเสนอความเห็นว่าควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากราษฎรที่สังกัดฝ่ายนิติบัญญัติ โดยพยายามเสนอให้มีการบัญญัติสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

ช่วงปี พ.ศ. 2532 - 2533 รัฐบาลได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่างๆ และพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มีบทบัญญัติว่าด้วยผู้ตรวจการรัฐสภา ในมาตรา 162 ทวิ แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ตรวจการรัฐสภาแต่อย่างใด

ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติเกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไว้ในมาตรา 196 มาตรา 197 และมาตรา 198 โดยกำหนดให้มีการตรากฎหมายรองรับเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาคนแรกขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543

อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีบทบาทในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของฝ่ายปกครอง โดยการรับเรื่องร้องเรียนที่มาจากประชาชน หรือนำปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินการของฝ่ายปกครองมาพิจารณา แล้วสรุปรายงานโดยมีการเสนอแนะทางแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานของฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 ดังนี้

1. พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ในกรณีที่ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือในกรณีที่ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่อันก่อให้เกิดความเสียหายและไม่เป็นธรรม

2. เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับหรือการกระทำใดของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

3. เมื่อพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องใดเสร็จแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีหน้าที่ทำรายงานสรุปข้อเท็จจริง พร้อมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะ ส่งให้หน่วยงานดำเนินการต่อไป หรือในกรณีที่การกระทำดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาเห็นว่ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เป็นการเลือกปฏิบัติ หรือล้าสมัย ให้เสนอแนะต่อหน่วยงาน เพื่อพิจารณาปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้น

4. ในกรณีที่ไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะส่งเรื่องนั้นให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการต่อตามควรแก่กรณี

5. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ โดยสามารถขอให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา และให้หัวหน้าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือบุคคลใด มาให้ถ้อยคำ หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา รวมทั้งขอให้ศาล ส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา นอกจากนั้นยังสามารถตรวจสอบสถานที่ที่เกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียน โดยแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ทราบล่วงหน้าในเวลาอันสมควร

6. ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือมีมูลความผิดทางอาญา หรือมีมูลความผิดทางวินัย ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแจ้งให้หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนเรื่องนั้นๆ และผู้บังคับบัญชาของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป •
   
                 

 
HONGSAKUL.COM | ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP