คงไม่ปฏิเสธนะคะว่าอุณหภูมิการเมืองไทยหนึ่งปีที่ผ่านมานั้นร้อนยิ่งกว่าโลกร้อนเสียอีก หลายคน สับสนกับการเมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอันไม่คาดฝันในเดือน กันยายน 2549 และ คงต้องยอมรับว่าปัญหาการเมืองไม่ได้มาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ มาจากการ แทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่ง ณ ที่นี้อยากจะพูดกันเป็นพิเศษหน่อย ถึงคณะกรรมการ การเลือกตั้งหรือ กกต. และกลไกด้านการเลือกตั้ง จากประสบการณ์ทั้งต่างประเทศและในประเทศ จะเห็นว่าตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เราต้องมี กกต. เข้ามาทำงานด้านการเลือกตั้งและจะไม่หันกลับไปเพรียกหากระทรวงมหาดไทยให้มาจัดการเลือกตั้งให้อีกต่อไป จนถึงปัจจุบันนี้ เป็นปีที่ 10 แล้ว การทำงานของ กกต. มีทั้งความสำเร็จและความบกพร่องที่ต้องแก้ไขอีกมาก ไม่ว่า จะเป็นระบบหรือเป็นเรื่องของกระบวนการก็ตาม
“ผมได้เรียนรู้อะไรดีๆของวิธีการเลือกตั้งของไทยคือกฏหมายไทยบังคับให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องของ หน้าที่ ไม่ใช่เป็นแค่สิทธิเท่านั้น การทำให้เป็นหน้าที่ทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิมีมากขึ้น และเป็น ความฉลาดของคนไทยที่เมื่อบังคับให้คนมาออกเสียงแล้วยังหาทางออกให้คนที่ไม่อยากจะเลือก ใครแต่ต้องมาใช้สิทธิโดย กากบาทในช่องที่ไม่เลือกใคร”….ผู้สังเกตการณ์อาวุโสท่านหนึ่งของ อันเฟลชมเชยด้วยความสนใจ เพราะเมื่อทำให้คนมาลงคะแนนมาก ก็จะทำให้มีคะแนนผียากขึ้น
เป็นที่ทราบกันว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของไทยนั้นมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาคณะกรรมการ การเลือกตั้ง ของประเทศต่างๆของเอเชีย ทั้งนี้เป็นเพราะว่า กกต.ไทยสามารถให้ใบเหลืองใบแดงกับผู้สมัครได้ ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อใดที่ผู้สมัครทำผิดหรือละเมิดกฏหมายเลือกตั้งโดยสามารถหาหลักฐานที่พิสูจน์ ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำหรือสั่งการจากผู้สมัครคนนั้น กกต.สามารถให้ใบแดงผู้สมัครคนนั้นได้ โดยไม่ให้ลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่ (re-election) แต่หาก กกต.ไม่สามารถหาพยาน หลักฐานได้ชัดขนาดนั้น แต่มีข้อพิสูจน์ที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครคนนั้นทำผิดหรือมีส่วนรู้เห็นจริง ก็ สามารถให้ได้แค่ใบเหลือง แล้วประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครคนเดิมสามารถลงแข่งขัน แก้ตัวได้อีก
ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคตและดูจะมีความสำคัญมากขึ้นเพราะเรากำลัง
จะให้มีการกระจายอำนาจกันอย่างแท้จริง เราไม่ได้มีการเลือกตั้ง สส. และ สว. เท่านั้น แต่มีการเลือกผู้ว่าฯ รวมทั้ง อบจ. และ อบต. ด้วย เพราะฉะนั้น กกต. ทั้งระดับชาติและระดับจังหวัด ก็จะต้องทำงานหนักขึ้น นั่นหมายรวมถึงต้องรับเรื่องราวร้องทุกข์ ที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวน มากขึ้นด้วย หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า กกต. มีบทบาทสองอย่างเหมือนสวมหมวกสองใบ หรือไม่ คือเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเอง ขณะเดียวกันก็ตัดสินคดีพิจารณาลงโทษ เพื่อตัดสิทธิผู้ลง คะแนนเองด้วย การทำงานจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร หรือว่าเราควรจะหาวิธีการคัดสรรกรรมการ กกต. ที่โปร่งใส เป็นกลาง และมีความยุติธรรมจริงๆ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาอย่างที่เป็นมา
ความเป็นกลางที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Neutrality and Impartiality)
หลายคนที่อยู่ในวงการเลือกตั้งจะคุ้นเคยกับคำเหล่านี้ ต้องยอมรับว่า ไม่ง่ายที่จะทำให้คนๆ หนึ่งมีความเป็นกลางอย่างสมบูรณ์ และรักษาความเป็นกลางได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เพราะ
ประชาชนไทยทุกคนที่อายุ 18 ปีเป็นต้นไปมีสิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการ กกต.เองด้วย (ยกเว้น พระสงฆ์ นักโทษ หรือผู้วิกลจริต) ที่สามารถเลือกตั้งได้ เมื่อใดก็ตามที่ตนมีสิทธิ เลือกคนที่ตนชอบได้ก็มักจะหาทางให้คนๆนั้นได้รับเลือกโดยไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จึงไม่แปลก ที่เห็นคณะกรรมการ กกต. ท่านหนึ่ง (คุณยุวรัตน์ กมลเวช) สร้างความเป็นกลางให้ตนเอง โดยใช้วิธีไม่เลือกใครเลย
การให้อำนาจแก่คณะกรรมการ กกต. อย่างมากมายอาจจะเป็นดาบสองคมก็ได้ แม้ว่าเราจะมีกลไก ที่ดี มีกฏหมายที่ใช้ได้ แต่การทำงานต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและความเป็นมาของคนๆนั้นอย่างมาก
คณะกรรมการ กกต.ชุดที่สองซึ่งนำโดยคุณ วาสนา เพิ่มลาภ นั้นต้องประสบปัญหาอย่างมากมายในเรื่องของความเป็นกลาง
“ทำไม่ กกต.ไม่ลงโทษคุณทักษิณ เมื่อเห็นชัดๆว่า คำปราศรัยของคุณทักษิณในการรณรงค์นั้นได้ละเมิดกฏหมายเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการสัญญาว่าจะให้ การใช้ทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง จนคนแยกไม่ออกว่าท่านพูดและปฏิบัติในฐานะนายกรัฐมนตรีหรือในฐานะผู้สมัครรับการเลือกตั้ง” ผู้สังเกตการณ์ขององค์กรกลางการเลือกตั้งท่านหนึ่งกล่าว
กองเลขาธิการอันเฟลได้ออกแถลงการณ์ส่งไปยัง กกต. ให้ตรวจสอบการใช้เงินของนักการเมือง ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และยังได้ประท้วงการหันคูหาเลือกตั้งที่ไม่ช่วยรักษาความลับของ ผู้มาลงคะแนนเสียง มีหลายประเด็นที่ได้วิพากษ์วิจารณ์ความไม่กระตือรือร้นของ กกต. ในการให้การศึกษา รวมทั้งไม่ให้ข้อมูลเรื่องการเลือกตั้งอย่างทั่วถึงต่อประชาชน อันเฟลยังได้ตำหนิ ความพยายามของกรรมการ กกต. ท่านหนึ่งที่ช่วยน้องชายของตนหาเสียงทางอ้อมในการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา ที่จังหวัดชุมพร ความไม่เป็นกลางและการเลือกปฏิบัติของบรรดากรรมการดังกล่าว ได้กลายเป็น ช่องโหว่ให้ถูกรุมเล่นงานได้ แต่กว่าจะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ก็ต้องอาศัยการแทรกแซงจากอำนาจตุลาการ
ถึงคราวต้องปฏิรูปการเลือกตั้ง (Electoral Reform)
ในช่วงการประท้วง “ต่อต้านทักษิณ” รายวันในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ประชาชนได้ทำการ ประท้วงการทำงานและความรับผิดชอบของ กกต. อย่างรุนแรงด้วย มีข้อเสนอนานาประการที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นต้องปฏิรูป กกต. และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมถึงกฏหมายเลือกตั้ง เมื่อต่อมา มีการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้มีการกล่าวถึงการลดอำนาจ กกต. และเรียกร้องให้มี ศาลการเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ศาลนี้ทำงานอย่างถาวรเพื่อรับผิดชอบข้อร้องเรียนสำคัญๆ ขณะเดียวกัน ยังขอให้มีการปรับเปลี่ยนระบบและกระบวนการบางอย่างให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ลดอำนาจของ กกต.
คำถามที่สำคัญต่อ กกต. เมื่อได้รับอำนาจมหาศาลเพื่อให้สามารถถอดถอน สส. สว. และนักการเมืองที่ไม่ปฏิบัติตามกติกา โดยมีอำนาจออกใบเหลืองใบแดง เมื่อเห็นว่ามีการละเมิดกฏหมายดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็มีการตั้งคำถามกันมากว่าแล้วเราจะไว้วางใจกรรมการ กกต.ได้อย่างไรว่า เป็นผู้ที่มีความยุติธรรม เป็นกลางไม่ตัดสินอะไรไปอย่างผิดๆ หรือทำงานเพื่อพรรคการเมืองหนึ่งใด หรือว่าสังคมไทยควรพิจารณาให้มีองค์กรอีกองค์กรหนึ่งเข้ามาถ่วงดุลย์และคอยตรวจสอบการทำงานของ กกต.อีกชั้นหนึ่งเช่นให้มี ศาลเลือกตั้ง
การจัดตั้งศาลเลือกตั้ง (Electoral Court)
นับเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษารูปแบบจากหลายประเทศที่มีศาลเลือกตั้งแล้ว ดังเช่นประเทศ
บราซิล โบลีเวีย ปานามา เปรู โคลัมเบีย อัฟริกาใต้ ฯลฯ ประเทศเหล่านี้ยอมรับว่าเมื่อ มีศาลลักษณะเฉพาะนี้แล้วได้ช่วยลดภาระหน้าที่ของ กกต. ลง ทำให้การพิจารณาคดีต่างๆ มีความ รวดเร็ว ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือความโปร่งใสของการเลือกตั้งด้วย ข้อเสนอดังกล่าวนี้อาจจะทำให้ กกต.เอง ไม่พอใจเพราะทำให้อำนาจของ กกต.ลดน้อยลง แต่ กกต.อาจไม่ทราบเลยว่า รูปแบบนี้จะช่วย ให้คนของกกต.มีสมาธิทำงานด้านการจัดการเลือกตั้งได้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นงาน บริหาร งานอบรม งานการศึกษา งานข้อมูลสาธารณะ หรือเรื่องงานเทคนิคต่างๆ ก็ตาม
ศาลเลือกตั้งจะเป็นผู้รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่งจะมีบทบาทพิจารณาคดี ลงโทษ ทั้งผู้สมัครรับการเลือกตั้ง พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ที่งานเลือกตั้ง และผู้ลงคะแนนเสียงด้วย สำหรับเรื่องงบประมาณ รัฐสภาควรจะพิจารณาตัดงบประมาณจาก กกต. มาส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนที่เกินความจำเป็นอยู่ในขณะนี้ มาใช้กับศาลเลือกตั้ง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ กกต.เองก็ มีคนล้นงานหลายร้อยคน ซึ่งนั่งกินเงินเดือนโดยทำงานไม่คุ้มเงิน ไม่มีความสามารถ และไม่ได้ สนใจทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ กกต.ชุดใหม่นี้ยังไม่กล้า ลงดาบคนเหล่านั้น หรือกล้าจ่ายเงินชดเชย เพื่อให้คนเหล่านี้ ออกจากงานไป กกต.ชุดปัจจุบันกลัวว่าการลดคนทำงาน จะ่ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันขึ้น เลยทำให้การแก้ปัญหาด้านนี้ยังไม่คืบหน้าไปไหน
อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมยิ่งขึ้นอีก หากได้มีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ไม่สังกัดพรรคการเมืองเข้ามาช่วยอีกแรงในช่วงเลือกตั้ง
รัฐบาลรักษาการณ์ไม่สังกัดพรรคการเมือง Non Party Care Taker Government (NPCTG)
เชื่อว่าคนไทยไม่เคยได้ยินระบบรัฐบาลรักษาการณ์ ไม่สังกัดพรรคการเมืองและไม่ทราบว่ามีไว้เพื่อ
อะไร ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าไม่ได้มาจากการทำรัฐประหารแน่นอน การมีรัฐบาลรักษาการณ์ในรูปแบบนี้ได้ถูกนำมาใช้แล้วกับประเทศบังคลาเทศซึ่งได้ใช้มาเป็นเวลานานหลังจากที่เขาประสบ
ปัญหา เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ซึ่งปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้นทุกครั้งก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อพรรครัฐบาลมักฉกฉวยโอกาสใช้อำนาจและทรัพยากรของรัฐที่มีอยู่ ไปเป็นประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือสร้างความนิยมให้พรรคของตน อีกทั้งยังใช้สื่อมวลชน ของรัฐช่วยตนหาเสียงทั่วทั้งประเทศ การมีรัฐบาลรักษาการณ์ได้ช่วยให้การทำงานของกกต. ดำเนินไปได้ดีขึ้นอย่างมาก เราลองมาดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของบังคลาเทศกันหน่อย
รัฐธรรมนูญของบังคลาเทศกล่าวไว้ในมาตราที่ 58B ว่า “ให้มีรัฐบาลรักษาการณ์ไม่สังกัดพรรคการเมืองเข้ามาบริหารงาน นับตั้งแต่วันที่มีการยุบสภาหรือสภาหมดวาระลง จนถึงวันที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามารับ ตำแหน่งในสภา รัฐบาลรักษาการณ์ที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองโดยการนำของหัวหน้าที่ปรึกษา (Chief Adviser) พร้อมคณะที่ปรึกษาอีกไม่เกิน 10 คน จะต้องขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีแต่ผู้ เดียว”
องค์ประกอบของรัฐบาลรักษาการณ์ฯของบังคลาเทศและการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาฯลฯ
(1). รัฐบาลรักษาการณ์ฯประกอบด้วยหัวหน้าที่เรียกว่าหัวหน้าที่ปรึกษา และ คณะที่ปรึกษา อีกไม่เกิน 10 คนซึ่งทั้งหมดนี้จะได้รับการแต่งตั้ง โดยประธานาธิบดี
(2). หัวหน้าที่ปรึกษาและคณะที่ปรึกษาจะได้รับการแต่งตั้งภายใน 15 วัน หลังจากที่มีการยุบสภา หรือกำหนดครบวาระของสภาและในช่วงระยะระหว่างวันยุบสภาหรือวันครบวาระของสภาถึงวันที่หัวหน้าที่ปรึกษาได้รับการแต่งตั้งนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งก่อนหน้ายุบ สภา หรือกำหนด ครบวาระของสภา จะคงต้องทำงานต่อไปเพื่อให้งานคงเดินต่อไปได้
(3). ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งหัวหน้าที่ปรึกษาจากประธานศาลฎีกา (Chief Justice of Bangladesh) ผู้ที่เกษียณ ล่าสุดและผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาตาม คุณสมบัติดัง ต่อไปนี้ ในกรณีที่ ประธานศาลฎีกาที่ เกษียณล่าสุดไม่มีหรือไม่เต็ม ใจที่จะรับ ตำแหน่งเป็นหัวหน้าที่ปรึกษา ประธานาธิบดีจะ แต่งตั้งประธานศาลฎีกาที่ เกษียณคนล่า สุดถัดไป
(4). ถ้าไม่มีประธานศาลฎีกาที่เพิ่งเกษียณหรือไม่เต็มใจที่จะรับตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษาประธานา
ธิบดีจะ แต่งตั้ง หัวหน้าที่ปรึกษาจากผู้พิพากษาที่เกษียณจากศาลอุทธรณ์คนล่าสุดและส่วนผู้ที่ มีคุณสมบัติที่จะ ได้รับการแต่งตั้ง เป็นที่ปรึกษานั้นมีระบุในตามมาตราดังต่อไปนี้ ถ้าไม่มีผู้พิพากษาที่เกษียณแล้วหรือไม่เต็มใจที่จะรับตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษา ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งหัวหน้าที่ปรึกษาจากบรรดาผู้พิพากษาที่ เกษียณล่าสุด จากศาลอุทธรณ์ เป็นอันดับถัดไป
แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีประธานาธิบดี และหากเราต้องการจะมีรัฐบาลดังกล่าว ที่มีความเป็นอิสระยิ่งกว่าประเทศบังคลาเทศเพื่อเข้ามาทำการคุมกระทรวงต่างๆให้ดำเนินงานไปตามปกติและโปร่งใส เราน่าจะนำรูปแบบใหม่ที่ดีกว่ามาใช้ โดยเลือกรัฐบาลฯจากตัวแทนของกลุ่มสาขาอาชีพหลักๆ เข้ามาเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ฯ เช่น ตัวแทนจาก ผู้พิพากษา อัยการ สื่อมวลชน สภาทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ภาคเอกชน นักธุรกิจ ฯลฯ โดยมีพันธกิจเพื่อช่วยลดความกังวลใจของประชาชนรวมถึงเข้าเสริมการดำเนินการเลือกตั้งของ กกต.ในระยะ เวลาการเลือกตั้ง และทำหน้าที่เป็นเสมือนคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลา 90 วันเท่านั้น คือ 60 วันก่อน การเลือกตั้งและ 30 วันหลังการเลือกตั้ง หรือจนกว่าคณะรัฐมนตรีได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับ ตำแหน่งต่างๆในรัฐบาลแล้ว อนึ่ง ในช่วง 60 วันก่อนการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดก่อนหน้านั้น สามารถออกจากตำแหน่งกลับคืนสู่สนามการเลือกตั้ง เหมือนนักการเมืองอื่นๆ เพื่อไปทำงานรณรงค์กับพรรคที่ตนสังกัดหรือในนามอิสระก็ตาม โดยจะไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆที่จะทำให้เกิดการ ได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงการเมือง และไม่ยอมให้พรรครัฐบาลใช้งบประมาณของรัฐและ บุคลากร ใน กระทรวงต่างๆ มาช่วยในการหาเสียงซื้อเสียง หรืออนุมัติงบก่อสร้าง หรือจัดงานพิธีต่างๆเป็นการ พิเศษในช่วงดังกล่าว ขณะเดียวกันก็จะไม่อนุญาต ให้มีการพิจารณางบประมาณแผ่นดินในเวลา นั้นเช่นกัน
ประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือจะช่วยทำให้เจ้าหน้าที่กรม กองต่างๆทำงานได้ตามปกติ ไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจใดๆ หรือต้องช่วยเหลือเจ้านาย นักการเมืองในขณะนั้นจนเกินหน้าเกินตาเพราะ
เกรงว่าอำนาจเก่าจะกลับมาแล้วตนเองอาจจะตกงานหากไม่รับใช้เจ้านายหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อมีรัฐบาลรักษาการณ์ ก็ไม่ต้องกลัวรัฐบาลชุดนี้เช่นกันว่าจะมีการล้างแค้นเพราะคนเหล่านั้นเข้ามามีอำนาจเพียงแค่ 90 วัน เป็นอำนาจที่ผ่านมาแล้วผ่านไป ข้อดีของการมีองค์ประกอบจากหลาย ภาคส่วนของสังคมมาเป็นตัวแทนรัฐบาลรักษาการณ์คือจะช่วยในการถ่วงดุลย์อำนาจตรวจสอบ กันเอง โดยตัวแทนเหล่านี้จะได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่ตนเกี่ยวข้องเพื่อเป็นหูเป็นตาด้วย หากประเทศไทยมีองค์ประกอบทั้งศาลเลือกตั้งและ รัฐบาลรักษาการณ์แล้ว การเลือกตั้ง น่าจะสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ประเด็นอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่เกี่ยวกับการเลือกคั้ง
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในวันเลือกตั้ง น่าจะมีการแก้ไขกฏหมายหรือข้อบังคับ ให้ยอมให้ประชาชนไปลงคะแนนเสียงที่ใดก็ได้ที่เป็นหน่วยเลือกตั้งที่ตน ทำงานหรืออาศัย อยู่ในขณะนั้นโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาที่ตนมีทะเบียนบ้านอยู่เพื่อเลือกผู้สมัครที่ตนต้องการ แต่ให้มีการลงทะเบียนแสดงเจตจำนงค์ในการลงคะแนนในที่นั้นๆเป็นการล่วงหน้า ก่อน
นอกจากนั้นยังควรคำนึ่งถึงคนกลุ่มหนึ่งที่สังคมมองข้ามเสมอ คือนักโทษในเรือนจำ ซึ่งถือว่าเป็น ประชาชนที่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้เฉกเช่นคนอื่นๆ และยังทำให้นักการเมืองที่เขาเลือกเข้ามานั้น ให้ความสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในเรือนจำ สนใจการแก้ปัญหาความ ไม่เป็นธรรม รวมถึงการจับผู้บริสุทธิเข้าคุก ตัวอย่างประเทศในเอเชีย ที่ให้นักโทษมีสิทธิเลือกตั้งในเรือนจำได้ ได้แก่ประเทศ อินโดนีเซีย ติมอร์ตะวันออก และอัฟกานิสถาน
ส่วนการตรวจสอบการเลือกตั้งจากภาคประชาชน จะเห็นได้ว่ามูลนิธิองค์กรกลางและเครือข่าย พีเน็ท ได้ทำงานอย่างเต็มรูปแบบมาตลอด เพื่อช่วยสอดส่องการเลือกตั้งจากภาคสนามมาเป็นเวลาหลายปี สององค์กรนี้สมควรจะได้รับงบประมาณจากรัฐโดยตรงเพื่อทำงานกับประชาชนในระดับรากหญ้า และดูแลการทำงานในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่และนักการเมือง ซึ่งรวมถึงสอดส่องการทำงานของ กกต.ด้วย ทั้งนี้ รัฐควรอย่างยิ่งที่จะอนุมัติส่งงบประมาณไปยังองค์กรดังกล่าวโดยตรง โดยไม่ผ่าน กกต. เพราะจะเกิดการควบคุมของ กกต. ทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก ประเทศไทยควรจะศึกษา เรื่องนี้จากการจัดตั้งองค์กรปานวาสลี (Panwasli) ของอินโดนีเชีย ซึ่งทำงานจากเงินที่ส่งผ่านมา ทางผู้ว่าการจังหวัดและต้องรับผิดชอบต่อสภาจังหวัด
นอกจากนั้น กกต.จะต้องพิจารณาการลงโทษผู้ซื้อสิทธิขายเสียงอย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องลงโทษผู้รับเงินจากหัวคะแนน และนักการเมืองด้วย มิฉะนั้นจะเป็นการบ่มเพาะวัฒนธรรมการคอรัปชั่นใน สังคมอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้สังคมเห็นการรับเงินเป็นเรื่องธรรมดา ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น หลายคนยังสนับสนุนให้คนยากคนจนรับเงินด้วยซ้ำ ในไต้หวันได้แก้ไขปัญหานี้สำเร็จโดย ให้มีการลงโทษทั้งสองฝ่ายอย่างจริงจัง ในเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องการนำระบบอิเล็กโทรนิคส์มาใช้ในงานการลงคะแนนและนับคะแนน ซึ่งเมืองไทยน่าจะเริ่มนำอุปกรณ์ที่ได้ทำวิจัยไว้หลายปีแล้วนี้มาใช้ในระดับจังหวัด ที่สำคัญๆ
เพื่อให้ประชาชนเริ่มคุ้นเคย เชื่อใจ และมั่นใจได้ว่าระบบนี้สามารถแก้ปัญหาการใช้กระดาษสิ้นเปลือง และทำให้การรู้ผลนับคะแนนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สภาสมควรที่จะผ่านกฏหมายว่าด้วยการใช้ระบบดังกล่าวในการเลือกตั้งทุกระดับเพื่อให้มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางดังที่มีการปฏิบัติกัน ในประเทศอินเดียซึ่งได้ใช้อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ที่ผลิตเองทั่วทุกรัฐแล้ว •
|