English | Thai  





CONSTITUTION ISSUE
เล่มที่ 1 มิ.ย.-ก.ย. 50



สุลักษณ์ ศิวรักษ์

Philosopher, Activist,
Barrister, Nobel Prize Nominee
                 
 
GUEST WRITERS:
แนวคิดทางกฎหมายตามหลักพุทธศาสนา
โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์
     
                 
 
I

เมื่อสมเด็จโคตมะสามารถละความติดยึดแห่งตัวตนได้แล้ว ท่านก็ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของความโลภ ความโกรธ และความหลง อีกต่อไป ท่านได้ประจักษ์ความจริงของธรรมะซึ่งอธิบายได้ตามกฎของธรรมชาติ ตามความเป็นจริงของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือความที่เป็นเช่นนี้เอง เนื่องจากเหตุนี้เองพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้ที่ไม่เห็นแก่ตนเองเลย และเป็นผู้ที่เข้าใจกฎแห่งธรรมชาติตามที่เป็นจริง และสืบเนื่องจากความเข้าใจหรือพระปรีชาญาณ จึงทำให้ท่านเกิดความเมตตา ที่จะสั่งสอนผู้ที่สมควรสอนได้อย่างเต็มความสามารถ

สมเด็จพระโคตมะทรงเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าที่มีพระกรุณายิ่ง ในเดือนเพ็ญของเดือนพฤษภาคม ท่านคิดว่ามีใครบ้างที่สามารถบรรลุธรรมรู้แจ้งตามสิ่งที่เป็นจริงเช่นท่าน ซึ่งท่านระลึกได้ว่า ปัญจวัคคีย์เป็นผู้ที่เคยติดตามท่านมาก่อน น่าจะเป็นผู้ที่โปรดให้รู้แจ้งได้ จึงได้เสด็จไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ในวันเพ็ญเดือนกรกฏาคม เป็นปฐมเทศนา และเป็นการเริ่มต้นการเคลื่อนกงล้อแห่งธรรมะ หรือพระธรรมจักร

ดาบสท่านหนึ่งในปัญจวัคคีย์เป็นผู้ที่เห็นแจ้งตามพระเทศนาของพระศาสดา ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มี ”ดวงตาเห็นธรรม”-ธรรมจักขุ ซึ่งในที่สุดดาบสท่านอื่นก็ได้บรรลุธรรมเช่นกัน นั่นคือดาบสทั้งห้าได้บรรลุธรรมเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าได้เป็นพระอรหันต์ หรือ พระอริยะเจ้าในที่สุด

ตามหลักพุทธธรรม การบรรลุความจริงเกิดขึ้นได้โดยการพิจารณาจิตของเรา พินิจพิเคราะห์ให้เห็นในอคติ อวิชชา และมานะหรือความถือตน การที่เราจะพิสูจน์ความถูกต้องของเรื่องที่เราคิด สมมุติฐาน หรือทฤษฎีต่างๆนั้น เรามักถูกชักจูงโดยความปรารถนาและความทะนงตัว ในทางกลับกันธรรมะสอนให้เรามองสะท้อนตัวเอง เมื่อปราศจากความทะนงตน เราก็จะไม่ทำร้ายผู้อื่นเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความดีของเรา และเราจะตั้งใจว่าการตัดสินใจของเราไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยอารมณ์ ความรัก ความโกรธ ความกลัว หรือความหลง เมื่อมาถึงสภาวะนี้ จิตของเราจะเป็นอิสระจากการยึดติดในความเป็นตัวตน และเกิดปัญญา สามารถเห็นแจ้งตามที่เป็นจริงได้

พุทธศาสนาจำแนกสัจจะหรือความจริงออกเป็นสองระดับคือ 1) ปรมัตถสัจจะ หรือความจริงตามความหมายสูงสุด คือกฎธรรมชาติ 2) สมมติสัจจะ หรือความจริงโดยสมมติ คือ ความจริงที่ตกลงกันในสังคม

กฎธรรมชาติจำแนกได้เป็น 5 อย่างคือ

อุตุนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับภูมิอากาศและฤดูกาล
พืชนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ และพันธุกรรม หรือวิวัฒนาการของธรรมชาติ
จิตตนิยาม เกี่ยวกับการทำงานของสมองและ/หรือจิต
กรรมนิยาม( กฏของศีลธรรม ) เกี่ยวกับการกระทำและการให้ผลของการกระทำนั้น
ธรรมนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์และความเป็นเหตุผลกันของสิ่งทั้งหลาย

กฎธรรมชาติแต่ละเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากถ้าคนเรายังเห็นแก่ตัวอยู่ อย่างน้อยก็ต้องไม่มีมิจฉาทิฎฐิ อย่างไรก็ตาม เราสามารถอธิบายกฎธรรมชาติหรือ ลำดับของธรรมชาติได้ดังต่อไปนี้:
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นภาวะที่ถูกบีบคั้น ขัดแย้ง ทรมาน นั่นคือ เป็นทุกข์
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน

ที่กล่าวมานั้นรวมเรียกว่าไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฏสากลในพุทธศาสนา ถ้าไม่สามารถเข้าใจกฏนี้ได้ด้วยจิตใจและปัญญาแล้วไซร้ เราก็จะมืดมนไปด้วยความเห็นแก่ตัว ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีวิธีการอันเชี่ยวชาญที่จะเปลี่ยน ความโลภเป็นความเผื่อแผ่ ความโกรธเกลียดเป็นความเมตตา และความลุ่มหลงมาเป็นปัญญาหรือความเข้าใจ เพื่อที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้

เราสามารถทำได้โดยปฏิบัติตามจิตตนิยามโดยการพัฒนาจิตใจและความคิด ซึ่งเป็นหัวใจของการเจริญสมาธิตามหลักพุทธศาสนา

การเจริญสมาธิ หรือการตั้งใจอย่างมุ่งมั่นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงจิตใจของเรา เมื่อเราเจริญสมาธิจะทำให้เราก้าวออกมาจากกระบวนการตอบโต้ที่ผลักดันชีวิตเรา สมาธิเป็นเรื่องจำเป็นถ้าเราต้องการเปิดเผยการรับรู้ตามธรรมชาติที่แท้จริงของมวลมนุษย์

การปฏิบัติในเริ่มแรก ต้องละปัญหาต่างๆในชีวิตที่คอยทำลายหรือขัดขวางการเจริญสมาธิ ในขั้นสุดท้ายเหตุจูงใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องมาจากประสบการณ์จากการเจริญสมาธิของเราเอง ไม่ใช่มาจากคนอื่นหรือผู้สอนที่บอกให้เราทำ ในการปฏิบัตินั้นเราจะต้องเป็นตัวของเราเองจริงๆ และเหตุจูงใจรวมทั้งความพยายามต้องมาจากภายในใจของเรา ประสบการณ์ที่ได้รับจากความแตกต่างของปฏิกิริยาโต้ตอบและปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น จะค่อยๆสร้างความเชื่อมั่นและโน้มน้าวว่าเราจำเป็นต้องพยายามต่อไป

การที่จะปฏิบัติได้ดีและถูกต้อง จำเป็นต้องเข้าใจหลักการของการเจริญสมาธิและการนำไปใช้ประโยชน์ให้ถูกต้องก่อน หลักสำคัญคือความชัดเจนและความมั่นคง ทำใจให้ผ่อนคลายเมื่อรู้ตัวว่าวอกแวกด้วยความคิดต่างๆนานา และเพิ่มพลังเมื่อรู้สึกเบื่อ พยายามหาทางปรับเปลี่ยนวิธีจนได้ความชัดเจนและมั่นคงสูงสุด

การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นคำตอบต่อปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในการเจริญสมาธิ หรือในชีวิต เราไม่สามารถชนะสงครามในทุกๆครั้งได้ อุปสรรคและแบบแผนจะทำให้เรายืนหยัดและไม่ลดละ ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ ความสม่ำเสมอ ความพยายาม ความเชื่อมั่น และความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการปฏิบัติ เราจะค่อยๆถอยออกจากแบบแผนบางอย่างที่กีดขวางเราจากประสบการณ์ชีวิตที่ควรได้รับอย่างเต็มที่ จากการบ่มเพาะความตั้งใจ เราจะได้รับเครื่องมือที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ความคิดเดิมๆของเราถูกครอบงำไปด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อน รวมทั้งแบบแผนของการรับรู้ การโต้ตอบต่ออารมณ์ ประวัติครอบครัว และเงื่อนไขต่างๆทางสังคมและวัฒนธรรม เราจำเป็นต้องละสิ่งต่างๆเหล่านี้ออกไปถ้าต้องการเปิดเผยความลึกลับของสรรพสิ่ง

เมื่อใดก็ตามที่เราได้ค้นพบความลึกลับของสรรพสิ่งแล้ว เราก็จะสามารถเข้าใจในกฏแห่งกรรม – การปรุงแต่งการกระทำต่างๆ และผลจากการกระทำนั้น ซึ่งสามารถจำแนกกรรมได้เป็น 12 ประเภท คือ :

ก) การจำแนกตามเวลาของการให้ผล

กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ หรือผลแห่งการกระทำเกิดขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้
กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า หรือผลแห่งการกระทำที่ส่งผลเมื่อเกิดใหม่
กรรมที่ยังไม่แน่ว่าจะส่งผลเมื่อใด หรือผลแห่งการกระทำที่จะส่งผลเมื่อสมควรแก่เวลาในภพต่อๆ ไป
อโหสิกรรม หรือกรรมไม่ให้ผล

ข) การจำแนกตามหน้าที่ของกรรม

ชนกกรรม หรือ กรรมผู้ให้กำเนิด
อุปถัมถกกรรม หรือ กรรมที่คอยอุปถัมภ์ ช่วยเหลือ
อุปปีฬึกกรรม หรือกรรมที่เป็นอุปสรรคและเบียดเบียน
อุปฆาตกรรม หรือกรรมที่เป็นผลร้าย ไปตัดรอนกรรมอื่นให้ไม่ให้ผล

ค) การจำแนกตามลำดับของการให้ผล

กรรมหนัก มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว กรรมดี เช่นบรรลุญาณระดับสูง ส่วนฝ่ายชั่ว เช่น ฆ่าพ่อแม่
กรรมที่เกิดจากการกระทำที่เคยชินจนเป็นนิสัย ผลของกรรมเบากว่าข้อ9
กรรมก่อนตาย คือสิ่งที่จิตใจคิดถึงก่อนตาย กรรมนี้จะส่งผลเร็วมาก นอกเสียจากว่าจะมีกรรมตามข้อ9 หรือ ข้อ10 ที่ทำไว้มาขวาง
กรรมที่ทำโดยไม่เจตนา ไม่ได้ตั้งใจหรือใส่ใจ

การจำแนกกรรมตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเป็นการจำแนกตามหลักพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ส่วนตามประเพณีของทิเบตจะอธิบายเรื่องกฎแห่งกรรมไว้ละเอียดกว่า เช่นผลแห่งการกระทำร่วมกันของสังคม รัฐหรือประเทศชาตื

ด้วยความเข้าใจเรื่องกฎธรรมชาติอย่างแท้จริง เราควรจะหมั่นเจริญเมตตากรุณา แทนที่จะเครียดและคอยเพ่งโทษผู้อื่น เพิ่มพูนความรู้ให้มากขึ้นเพื่อปลดตนเองจากการจองจำ – ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องส่วนบุคคลและการลงโทษประหารชีวิต

ที่ผ่านมาเราอาจรู้จักธรรมะหรือกฎธรรมชาติในหลายแง่มุม แต่ถ้ากล่าวถึงหัวใจของพุทธศาสนาแล้ว จำเป็นต้องกล่าวถึงธรรมะสูงสุด คือ ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแปลว่า การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายโดยอาศัยกัน เป็นเงื่อนไขแก่กัน จึงเกิดมี ซึ่งได้แก่ :

1/2
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ (ช่องทางรับรู้ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) จึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ เกิดขึ้น จึงมีพร้อมความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีได้ ด้วยประการฉะนี้

หลักธรรมนี้เป็นการแสดงกระบวนการเกิดตามลำดับ และในทางกลับกันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้สอนกระบวนการดับ เป็นการให้เห็นความสัมพันธ์แบบสองนัย ตั้งแต่เมื่อดับอวิชชาได้ ย่อมดับสังขารคือความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย ฯลฯ

เรื่อยไปจนถึงเมื่อชาติดับ ชรามรณะจึงดับ ซึ่งความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้


II

ส่วนสมมติสัจจะ หรือความจริงโดยสมมติที่สังคมยอมรับร่วมกันนั้น พุทธศาสนาเรียกว่า พระวินัย

เมื่ออธิบายกว้างๆวินัยหมายรวมถึงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆที่ช่วยให้มนุษย์อยู่ได้อย่างกลมกลืนกับกฎธรรมชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจกฎธรรมชาติ เพื่อจะได้จัดตั้งบรรทัดฐานและกฎระเบียบในการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกัน

สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่ากฎระเบียบ ไม่ว่าของสงฆ์หรือฆราวาสนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการอุบัติของพระศาสดาทั้งหลาย พุทธศาสนาไม่เชื่อเรื่องการสร้างโลกโดยพระผู้เป็นเจ้าหรือกำเนิดโดยพระผู้เป็นเจ้า กฎของพุทธศาสนาเกิดขึ้นจากมนุษย์ โดยมีพื้นฐานจากประสบการณ์และเหตุผลทางศีลธรรม

ประชาธิปไตยของศาสนาพุทธคือการสร้างกฎบนพื้นฐานของศีลธรรม พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองจะปกครองบนบรรทัดฐานของธรรม ท่านจะรักษาบรรทัดฐานไว้จากการปฏิบัติเป็นตัวอย่างและกระตุ้นให้ผู้คนภายใต้ปกครองปฏิบัติตาม และกฏต่างๆในแต่ละสถานการณ์จะกำหนดขึ้นจากหลักการบนพื้นฐานของศีลธรรมนี้เอง ซึ่งสามารถศึกษาได้จากกฏหรือพระสูตรต่างๆของศาสนาพุทธ

จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระมหากษัตริย์หรือคนใต้ปกครองจะละเมิดกฏ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อรากฐานทางจริยธรรม นั่นคือกษัตริย์หรือผู้ปกครองจะไม่เชื่อมั่นในประชาชนของพวกเขา ท่านจึงต้องปกครองโดยธรรมเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนปฏิบัติตาม ในทางกลับกันถ้าผู้ปกครองละเมิดกฎและยังชักชวนให้ประชาชนทำตาม ประชาชนก็จะสูญเสียความเชื่อมั่นต่อผู้ปกครองและกฎระเบียบนั้น

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงปฐมเทศนาแก่ภิกษุที่กรุงพาราณสี (อิสิปัตตานะ) เท่ากับเป็นการเริ่มต้นเคลื่อนวงล้อแห่งธรรม (พระธรรมจักร) พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นแสดงกฎแห่งความชอบธรรม และกฎแห่งความชอบธรรมนี้เองที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นอยู่อย่างผาสุกของมวลมนุษยชาติ “ ด้วยความเมตตากรุณาต่อโลก “

พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์ที่จะบัญญัติพระวินัยสำหรับภิกษุขึ้นบนพื้นฐานประชาธิปไตย เมื่อมีผู้ถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเหตุใดพุทธศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงดำรงอยู่ได้ยืนนานกว่าศาสนาอื่นๆ พระบรมศาสดาทรงตอบว่า ศาสนาที่ไม่คงอยู่ยาวนานนั้นเพราะไม่มีรากฐานของกฎเกณฑ์บนหลักการที่ชอบธรรม จึงเป็นที่แน่นอนว่าวินัยของสงฆ์ รวมทั้งกฏเกณฑ์ของประชาชนในแต่ละประเทศก็ควรปฏิบัติตามหลักการที่ชอบธรรมนี้

การบัญญัติกฎระเบียบขึ้นนั้นไม่ได้สำเร็จขึ้นในครั้งเดียว แต่ต้องใช้เวลานานพอสมควรที่ภิกษุที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ (ผู้หลุดพ้น) แล้ว ร่วมกันร่างกฎระเบียบขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้รอจนถึงเวลาเหมาะสม จึงประกาศพระวินัยที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของชุมชน และสามารถพัฒนาไปได้อย่างเต็มที่

วินัยของพุทธศาสนานั้นเป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความชัดเจน เหตุผลในการบัญญัติพระวินัยมีดังต่อไปนี้ คือ:

เพื่อความผาสุกของชุมชน
เพื่อความสะดวกสบายของชุมชน
เพื่อควบคุมคนที่จะนอกลู่นอกทาง
เพื่อภิกษุที่ปฏิบัติตนดีจะไม่ต้องวิตกกังวล
เพื่อป้องกันการทำผิดอันจะเกิดในปัจจุบัน
เพื่อป้องกันการทำผิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เพื่อความศรัทธาของผู้ที่ยังไม่ศรัทธา
เพื่อความศรัทธายิ่งของผู้ที่ศรัทธาแล้ว
เพื่อให้พระธรรมคำสอนดำรงอยู่ชั่วกาลนาน
เพื่อสนับสนุนพระวินัย

จะเห็นได้ว่าจากเหตุผลเหล่านี้สามารถประยุกต์ใช้ในการประกาศพระราชบัญญัติหรือกฎหมายสำหรับประเทศประชาธิปไตยได้ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ต่างบัญญัติขึ้นเบื้องต้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและความสะดวกสบายของประชาชน ผู้ใดที่ละเมิดกฎหมายและทำให้สังคมหวั่นไหวจะต้องถูกควบคุมโดยกฎหมายเอง ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะถูกลงโทษ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมายและมีชีวิตที่มีระเบียบวินัย จะรู้สึกว่าการดำเนินชีวิตอย่างมีความศรัทธานั้นเป็นเรื่องง่ายเพราะมีกฎหมายช่วย ในขณะที่ผู้ที่มีความประพฤติไม่เป็นไปตามทำนองคลองธรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต กฎเกณฑ์จะทำให้เขาอยู่ได้ยาก ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่โดยไม่มีศรัทธาในกฎเกณฑ์ ควรจะสร้างความนับถือขึ้นจากการนำกฎหมายมาใช้ในการทำงาน ผู้ที่เชื่อในกฎระเบียบจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และกฎหมายก็จะคงอยู่ได้ยาวนาน การที่กฎหมายสามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีและมั่นคง เป็นปัจจัยสำคัญในประชาธิปไตยของพุทธศาสนาซึ่งควรได้รับการสนับสนุนต่อไป

ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าในพันธะเกี่ยวกับการบัญญัติพระวินัย ต้องพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆตามความเป็นเหตุผล แต่ก็มีหลายคนที่ถือเอาประโยชน์ตนเป็นสำคัญ ทำให้การปฎิบัติด้านกฎหมายในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเข้มงวดน้อยลง อันที่จริงกฎหมายมิได้กำหนดขึ้นเพื่อกลุ่มคนชาวพุทธเท่านั้น แต่เพื่อชุมชนทั้งหมด เพื่อทำให้ผู้ที่ไม่ฝ่าฝืนกฎระเบียบดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

กฎหมายเกิดขึ้นจากความเห็นชอบของสาธารณชน ต้นกำเนิดของปัญหาสังคมที่ทำให้ต้องมีกฎลงโทษผู้ทำผิดส่วนใหญ่ เกิดขึ้นจากคำถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องเกิดมา หมู่ฆราวาสและภิกษุให้ความเห็นว่า กฎแห่งกรรมสิบหกข้อให้คำตอบได้ถึงที่มาของสิ่งที่ดำรงอยู่หรือชีวิตมนุษย์ ภิกษุกลุ่มหนึ่งกล่าวถึงที่มาของชีวิตตามกฎแห่งกรรมแปดข้อ อีกสามข้อจากแม่ชี และสองข้อจากพระอานนท์ ซึ่งเป็นพระสาวกใกล้ชิดของพระผู้มีพระภาคเจ้า และอีกหนึ่งข้อจากชายผู้เร่ร่อน

กฎหมายหรือวินัยมีไว้เพื่อรักษาบรรทัดฐานของสังคม ส่วนพระวินัยตามความหมายของพุทธศาสนาหมายถึงทางสายกลาง ซึ่งเป็นทางที่ต้องปฏิบัติเพื่อจะได้เข้าใจในอริยสัจสี่และบรรลุธรรมหรือรู้แจ้งในที่สุด ในเบื้องต้นเราต้องปฏิบัติตามระเบียบประเพณีหรือบรรทัดฐาน ซึ่งไปเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาได้ในการฝึกเจริญสติห้าขั้นตอน ดังต่อไปนี้คือ:

การฝึกสติขั้นแรก
ตระหนักถึงความทุกข์ที่เกิดจากการทำลายชีวิต ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะเจริญเมตตาและเรียนรู้วิถีทางที่จะปกป้องชีวิตของผู้คน สัตว์ พืช และแร่ธาตุในธรรมชาติ

ข้าพเจ้าตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ฆ่า ไม่ให้ผู้อื่นฆ่า และไม่ยอมให้เกิดการกระทำใดๆเกี่ยวกับการฆ่าเกิดขึ้นในโลก ทั้งในความคิด และในวิถีการดำรงชีวิตของข้าพเจ้า

การฝึกสติขั้นที่สอง
ตระหนักถึงความทุกข์ที่เกิดจากการเอาเปรียบ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม การลักขโมย และการบังคับกดขี่ ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะเจริญความรัก ความเมตตา และเรียนรู้วิถีทางที่จะทำงานเพื่อความผาสุกของมนุษย์ สัตว์ พืช และทรัพยากรธรรมชาติ ข้าพเจ้าจะฝึกฝนให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยการแบ่งปันเวลา แรงกายแรงใจ และปัจจัยให้แก่ผู้ที่ต้องการจริงๆ ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะไม่ลักขโมย ไม่ถือเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน จะให้ความเคารพในทรัพย์สินของผู้อื่น จะขัดขวางผู้ที่หาผลประโยชน์บนความทุกข์ของผู้อื่นหรือสิ่งมีชีวิตอื่นใดในโลกนี้

การฝึกสติขั้นที่สาม
ข้าพเจ้าตระหนักถึงความทุกข์อันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติทางเพศที่ไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะรับผิดชอบ และเรียนรู้วิถีทางที่จะรักษาความปลอดภัยและความซื่อสัตย์ต่อตนเองและคู่ครอง ตลอดจนครอบครัวและสังคม ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวและมีความสัมพันธ์ทางเพศ โดยปราศจากความรักและคำสัญญาที่จะอยู่ร่วมกันยาวนาน และเพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งความสุขของข้าพเจ้าเองและของผู้อื่น ข้าพเจ้าจะทำทุกอย่างเต็มความสามารถของข้าพเจ้า เพื่อปกป้องเด็กๆจากการกระทำทารุณทางเพศ และรักษาไว้ซึ่งคู่ครองและครอบครัวมิให้แตกแยกเพราะสาเหตุจากการประพฤติผิดทางเพศ

การฝึกสติขั้นที่สี่
ข้าพเจ้าจะตระหนักถึงความทุกข์อันเกิดจากคำพูดที่ไม่ได้ยั้งคิด และการไม่ยอมรับฟังผู้อื่น ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะพูดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะและจะตั้งใจฟังผู้อื่นพูด เพื่อที่จะทำให้ผู้อื่นมีความสุขและสนุกและบรรเทาทุกข์ลง ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะพูดแต่คำสัตย์จริง ด้วยถ้อยคำที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง มีความสุขและมีความหวัง ข้าพเจ้าจะไม่เล่าหรือพูดถึงเรื่องที่ยังไม่แน่ใจ จะไม่วิพากย์วิจารณ์หรือประณามสิ่งของ,ผู้คนหรือเรื่องที่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ ข้าพเจ้าจะอดกลั้นและไม่พูดถึงเรื่องที่จะทำให้บาดหมางกัน หรือทำให้ครอบครัวและสังคมแตกแยก ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะประนีประนอมและแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกเรื่องแม้เพียงเล็กน้อย

การฝึกสติขั้นขั้นที่ห้า
ข้าพเจ้าจะตระหนักถึงความทุกข์ที่เกิดจากการบริโภคโดยไม่มีสติ ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะรักษาสุขภาพให้ดีทั้งกายและใจ เพื่อตัวข้าพเจ้าเอง เพื่อครอบครัว และเพื่อสังคม โดยที่จะมีสติในการกิน การดื่ม และบริโภคสิ่งอื่นๆ ข้าพเจ้าจะกินเพียงเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบ ความผาสุกและความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้และรักษาไว้ซึ่งสติของข้าพเจ้า และของหมู่คณะคือครอบครัวและสังคม ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลหรือของมึนเมา หรืออาหารที่มีสิ่งที่เป็นพิษหรือมีโทษเจือปน รวมทั้งสิ่งอื่นๆ เช่นรายการทางโทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือ ภาพยนตร์ และการสนทนาที่ไม่เหมาะสม ข้าพเจ้าจะระวังไม่ให้สิ่งเหล่านี้มาทำร้ายร่างกายและจิตใจของข้าพเจ้า ไม่ให้สิ่งทีมีพิษภัยเหล่านี้ทำให้เสื่อมเสียต่อบรรพบุรุษ บิดามารดา สังคมและอนุชนในอนาคต ข้าพเจ้าจะเปลี่ยนความรุนแรง ความกลัว ความโกรธ และความสับสนในตัวข้าพเจ้าและในสังคม โดยการฝึกฝนเรื่องโภชนาการเพื่อตัวข้าพเจ้าเองและเพื่อสังคม ข้าพเจ้าเข้าใจดีว่าการรู้จักบริโภคอย่างเหมาะสม เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการเปลี่ยนแปลงทั้งตัวเองและสังคม

ข้อปฏิบัติทางพุทธศาสนาตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นมีพื้นฐานอยู่บนศีลธรรม และการเจริญสติและสมาธิด้วยพื้นฐานทางศีลธรรมนี้เองที่ชี้แนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตตามกฎระเบียบ เมื่อมีการล่วงละเมิดกฎก็ย่อมส่งผลรบกวนต่อการดำรงชีวิตทั้งหมดเป็นลำดับไป อาจส่งผลให้ผู้ละเมิดถูกลงโทษ แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะกระบวนการต่างๆในธรรมชาติจะถูกรบกวนไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลเสียหายได้ต่อสรรพสิ่งทั้งปวงทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตตลอดจนสิ่งแวดล้อม

ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎดังกล่าวแสดงถึงความชอบธรรม บางครั้งคนเราอาจหลีกเลี่ยงการลงโทษจากสังคมได้ แต่ตามศีลธรรมแล้วโทษนั้นยังคงอยู่ติดตัวเขาในชีวิตนี้หรือในชาติต่อๆไป เมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ใดแล้วยากที่จะทำให้ถูกต้องเช่นเดิมได้ มันเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถกลับคืนเหมือนเดิมได้ ดังนั้นการล่วงละเมิดกฎส่งผลทำให้คุณค่าของความสัมพันธ์ของธรรมชาติลดลง ทั้งระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

กฎต่างๆนั้นมีอำนาจในตัวเองเพราะมีพื้นฐานบนศีลธรรม บรรทัดฐานให้อำนาจแก่กฎเกณฑ์ เมื่อผู้ปกครองสนับสนุน ปกป้องและปฏิบัติตามบรรทัดฐาน นั่นเป็นเครื่องแสดงถึงความถูกต้อง พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนให้เคารพธรรมะ( คำสอนที่ถูกต้อง) และปฏิบัติตามวินัย( บทบัญญัติข้อปฏิบัติต่างๆ) เหมือนเป็นครูผู้สอนแทนพระองค์เมื่อพระองค์ไม่ทรงอยู่ในโลกนี้แล้ว ซึ่งสามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้ได้เพราะเป็นพฤติกรรมที่ชอบธรรม

ในการปกครองทางศาสนาพุทธ กฎระเบียบมิได้บัญญัติขึ้นเพียงการประกาศเท่านั้น แต่จะต้องนำมาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ บัญญัติทางพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องพระผู้เป็นเจ้า และไม่มีเนื้อหาใดในบัญญัติที่ค้านกันเอง กฎระเบียบที่ดีย่อมสอดคล้องกับศีลธรรมและจริยธรรม บทบัญญัติของศาสนาพุทธเชื่อมโยงกับศีลธรรมดังแสดงในประวัติในการสังคายนาพระวินัยและพระสูตรครั้งล่าสุด

คำสอนของศาสนาพุทธนั้นสอนว่า เพียงบทบัญญัติเท่านั้นไม่สามารถทำให้สังคมเข้มแข็งได้ กรอบความคิดที่เกี่ยวกับบทบัญญัติหรือกฎหมายต่างหากที่จะทำให้กฎหมายนั้นใช้ประโยชน์ได้จริง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือจิตวิญญาณของประชาชนผู้ร่างและนำบทบัญญัติเหล่านั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต ความเข้าใจในกฎระเบียบและประพฤติปฏิบัติตามให้สอดคล้องกันเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เคารพในกฎหมายตามตัวหนังสือเท่านั้น ความเข้าใจที่ถูกต้องแสดงถึงจุดมุ่งหมายทางศีลธรรมที่ผู้ปฏิบัติตามจะได้รับผลตามมา

กษัตริย์หรือผู้ปกครองของรัฐต้องแน่ใจว่าระบบต่างๆมีความยุติธรรม เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น จะต้องรับฟังแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ต้องประเมินข้อโต้แย้งให้ดีก่อนมีการตัดสิน ในการตัดสินจะต้องไม่มีความลำเอียง เจตนาร้าย หรือความกลัวเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการกล่าวไว้ในมหาวสูตรว่า “ เมื่อมีการโต้แย้งเกิดขึ้นจะต้องรับฟังและให้ความสนใจข้อโต้แย้งของทั้งสอ งฝ่าย แล้วจึงตัดสินใจบนพื้นฐานแห่งความถูกต้อง ปราศจากอคติ ความอาฆาต ความไม่รู้ หรือความกลัว….” จากเรื่อง Niti Niganduwa ที่เกี่ยวกับกฎของ Kandy ของศรีลังกาก็มีกล่าวไว้ คล้ายๆกัน อธิบายถึงถนนสี่สายที่จะนำไปสู่ความอยุติธรรมได้ คัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า เมื่อกษัตริย์ที่ฉลาดปราดเปรื่องเป็นผู้ปกครองจะไม่ค่อยมีการลงโทษเกิดขึ้น การที่ผู้พิพากษาบางคนไม่สามารถรักษาความยุติธรรมไว้ได้เป็นเพราะใช้อารมณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดี อาจตัดสินเพิกถอนสิทธิในการครอบครองทรัพย์สมบัติของเขา หรืออาจตัดสินลงโทษผู้บริสุทธิ์เพราะมีความแค้นที่สะสมมานานต่อคนๆนั้น และในขณะเดียวกันความอยุติธรรมอาจเกิดจากความไม่รู้ หรือละเลย อาจเพิกถอนสิทธิในทรัพย์สิน หรือลงโทษผู้บริสุทธิ์ หรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ทำผิดมีความผิดจริง สิ่งเหล่านี้อาจเนื่องจากมีความคิดบางอย่างเกิดขึ้นมา โดยที่ไม่ได้ใช้หลักของกฎหมาย (ยุกติ อยุกติ) มาพิจารณาตามความจริงในแต่ละกรณี ผู้พิพากษาต้องตัดสินคดีโดยมีการพิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบเสียก่อน และหากว่า หลังจากตัดสินแล้วมีหลักฐานอ้างอิงที่แสดงว่าผู้พิพากษาตกอยู่ในอำนาจใดก็ตามที่มีผลต่อการพิพากษา เขาก็จะเสียชื่อเสียงและสูญเสียสถานภาพกับเพื่อนร่วมงาน แต่ผู้พิพากษาที่ใช้กฎหมายดำเนินคดีด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมก็จะมีชื่อเสียง มีผู้คนเคารพนับถือ

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้รับการยอมรับนับถือว่า เป็นผู้ที่ประกาศแนวทางปฏิบัติที่ชอบธรรมได้อย่างชัดเจน อำนาจการปกครองสูงสุดไม่ได้อยู่ที่ผู้ปกครองหรือรัฐบาลใดๆ น่าสนใจว่า เมื่อปฏิบัติตามทฤษฎีของพุทธศาสนาแล้ว ผู้ที่ถูกปกครอง (คือประชาชน) จะต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพของผู้ปกครองที่เขาเลือก พวกเขามีโอกาสที่จะเลือกผู้ปกครองคนนั้นๆหรือไม่ก็ได้ จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนก็ได้ เมื่อผู้ปกครองทำการปกครองโดยไร้ความชอบธรรม เขาก็จะสูญเสียอำนาจการปกครองไปโดยอัตโนมัติ ส่วนการปกครองที่ไร้ประสิทธิภาพเป็นผลมาจากประชาชนเลือกผู้ปกครองผิด กษัตริย์หรือผู้ปกครองไม่ได้อยู่เหนือกฎหมายหรือต้านกฎหมายได้ ผู้ปกครองต้องเคารพกฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ความคิดที่ว่ากษัตริย์หรือผู้ปกครองไม่มีวันทำผิดนั้นไม่ใช่แนวคิดของพุทธศาสนา เพราะความคิดเช่นนั้นเป็นความคิดที่มองกษัตริย์เป็นพระเจ้า คำสอนทางพุทธศาสนา สอนว่า คนแต่ละคนเท่าเทียมกัน และทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดจากความตั้งใจของตัวเอง “ ทุกชีวิตมีกฎแห่งกรรมเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นต่ำ ชั้นกลางหรือชั้นสูงก็ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษ “ กษัตริย์และผู้ปกครองก็ไม่แตกต่างจากประชาชนคนอื่นๆ ที่ไม่สามารถเรียกร้องอำนาจหรือสิทธิพิเศษที่จะค้านกฎหมายที่ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตามได้

คำสอนของพุทธศาสนาได้กล่าวถึงการสร้างสรรค์และรักษาไว้ซึ่งอิสรภาพ เกียรติยศ และสิทธิของมนุษยชาติ ซึ่งเน้นถึงความเชื่อมั่นในตนเอง ความพยายาม ความบากบั่น ความเข้มแข็ง พลัง คุณค่าและความรับผิดชอบ กฎหมายให้ความสำคัญเรื่องความเชิ่อมั่นในตนเองเช่นเดียวกับคำสอนของพุทธศาสนา

หลักการของความชอบธรรมเรื่องเสรีภาพที่ยอมรับกันคือ เสรีภาพในการคิด เสรีภาพในการพูด และเสรีภาพในการกระทำ กระบวนการในชีวิตของมนุษย์ก็ประกอบด้วยทางทั้งสามนี้ คือความคิด คำพูดและการกระทำ ซึ่งเสรีภาพในทั้งสามทางนี้แสดงออกมาเป็นการกระทำ เสรีภาพในการคิดขึ้นกับจิตใจที่มีอิสรภาพ เสรีภาพในการพูดขึ้นกับว่าเราแสดงความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้เพียงใด ส่วนเสรีภาพของร่างกายคือการกระทำที่แสดงออกทั้งหมด เสรีภาพสูงสุดในการคิด พูดและกระทำขึ้นกับความเป็นอิสระจากการผูกพันหรือยึดติด ไม่มีความเกลียดชังและอวิชชา ถ้าในกระบวนการยุติธรรมมีการทำงานที่ถูกต้องในทางทั้งสามดังกล่าว ก็เป็นที่แน่นอนว่าทุกชีวิตจะปลอดภัย

เมื่อพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนาในการการดำรงชีวิตแล้ว จะเห็นได้ว่ามีเหตุผลอันสมควรที่จะรักษาอิสรภาพดังกล่าวโดยใช้ความยุติธรรมตามหลักพุทธศาสนา การบรรลุนิพพานหรือรู้แจ้งถือเป็นอิสรภาพขั้นสูงสุด ถือเป็นความสุขที่แท้จริง และเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของพุทธศาสนา ดังนั้นจุดมุ่งหมายทั้งของเราและผู้อื่นควรมีการพัฒนาไปสู่ความสุขที่แท้จริง เรามักพยายามหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่ กฎหมายอันชอบธรรมและยุติธรรมจะคอยช่วยค้ำจุน ส่งเสริม และพัฒนาให้เกิดกฏเกณฑ์ที่ถูกต้อง และขัดขวางการกระทำใดๆที่จะทำให้เกิดกฎเกณฑ์ที่ไม่ดีขึ้น ความเชื่อของศาสนาพุทธเกี่ยวกับความยุติธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เป็นเหตุเป็นผล และเป็นการเปิดทางที่จะนำเราทุกคนไปสู่ความสุขสวัสดี

หลักของความยุติธรรมในพุทธศาสนานั้นแสดงให้เห็นได้ในระบบของศาล พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ใช้ประโยชน์เรื่องความยุติธรรมในการปกครองคณะสงฆ์ ผู้ที่วิจารณ์พุทธศาสนาอ้างอิงถึงเงื่อนไขเจ็ดประการสู่ความสุข ที่สามารถจะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรมได้ มีการอธิบายเนื้อหาในเรื่องนี้เพิ่มเติมขึ้นในวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่เขียนขึ้นในระยะหลังๆ และมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเพณีทั้งทางใต้และทางเหนือ

ระบบศาลยุติธรรมยอมรับแนวคิดของคณะสงฆ์ ที่ให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันก่อนมีการบัญญัติกฎหรือวินัยขึ้นมาเสียอีก ในเบื้องต้นผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิดหรือบริสุทธิ์ จนกว่าจะหาหลักฐานหรือพยานมาอ้างอิงได้ว่าผิดจริง การคัดเลือกผู้พิพากษาจะต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบถึง ลักษณะนิสัย สติปัญญา ประสบการณ์ และคุณสมบัติบางอย่าง เช่นความไม่มีอคติและการรักความเป็นธรรม ศาลจะมีหลักสูตรทางกฎหมายที่พร้อมจะดำเนินการได้ ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับหมายเรียก และความเต็มใจของเขาที่จะเชื่อฟังคำสั่งศาลเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อใดที่มีการร้องเรียนขึ้นจะต้องมีการดำเนินการโดยปราศจากเจตนาร้าย แต่ต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ถูกกล่าวหา ที่กล่าวมานี้ชี้ชัดว่าความไม่มีอคติและความชอบธรรมในศาลจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแม้กับผู้ที่กระทำผิด ภิกษุที่มีประสบการณ์และสติปัญญาได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษา และให้ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามกฎหมายและศีลธรรม ซึ่งมีการเสนอทรรศนะทางประวัติศาสตร์และสังคม และมีความเข้าใจและเห็นใจผู้ที่ถูกกล่าวหา ภิกษุที่แสดงกรณีศึกษาจะคอยช่วยศาลให้เข้าใจผู้ถูกกล่าวหา และช่วยให้มองภาพในการดำเนินคดีในแง่มุมที่ถูกต้อง (อย่าสับสนกับการทำหน้าที่ของอัยการ) ผู้ถูกกล่าวหาสามารถตรวจสอบหลักฐาน หรือแม้แต่เสนอเหตุการณ์หรือหลักฐานใหม่ๆ เพื่อพิสูจน์ตนเองได้

กฎการลงโทษของพุทธศาสนา ถือหลักการให้ผู้กระทำผิดกลับตัวกลับใจ เปลี่ยนแปลงตัวเองเสียใหม่ มากกว่าการลงโทษตามความผิด ความเชื่อทางพุทธศาสนาเรื่องกรรมทำให้มีความคิดออกจากระบบที่มีการลงโทษอย่างไม่ยุติธรรม ไม่มีประโยชน์ และไม่มีเหตุผล ตามกฎแห่งกรรม ผู้พิพากษาต้องมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินคดี หากเขามีอคติก็จะต้องได้รับความทุกข์จากการกระทำของเขาเอง ผลของระบบความยุติธรรมแบบนี้ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในความยุติธรรม เชื่อว่าเขาจะได้รับการพิจารณาโดยปราศจากอคติ

อาจทำความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมตามหลักพุทธศาสนาได้จากสองตัวอย่าง ตัวอย่างแรกคือจากพระวินัย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาหรือภิกษุแต่ละรูปจะได้รับการพิจารณาจากคณะสงฆ์ ตัวอย่างที่สองคือจากกฎของชาววัชชี (Vajian Law) ที่ถือหลักธรรม 7 ประการมาใช้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม

ในกรณีที่เกี่ยวกับกฎของนักบวช ผู้ถูกกล่าวหาถูกนำตัวมาขึ้นศาลเพื่อดำเนินคดี ภิกษุรูปอื่นที่มีความรู้ดีและมีความคุ้นเคยกับเรื่องขบวนการทางศาล จะแสดงการกล่าวหาอย่างเป็นทางการ ต้องมีการคัดเลือกผู้พิพากษาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างถูกต้องชัดเจนที่สุด มีการเชิญตัวพยานและตรวจสอบ และถ้าศาลที่มีภิกษุเป็นองค์ประชุมนั้นลงความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาผิดจริง เขาก็จะถูกลงโทษ มีการกำหนดการลงโทษไว้หลายประเภท การลงโทษขั้นรุนแรงที่สุดคือการขับไล่ออกจากการเป็นภิกษุ ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อภิกษุทำความผิดทางอาญาขั้นรุนแรงสี่ประการโดยตั้งใจ (คือ ปราชิก) ส่วนการลงโทษในคดีอาญาอื่นๆมีตั้งแต่การภาคฑัณฑ์ไปจนถึงการให้ฟื้นฟูตนเอง กลับตัวกลับใจ และเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่

ผู้ถูกกล่าวหาสามารถอุทธรณ์ได้และการอุทธรณ์อาจเสนอไปถึงคณะสงฆ์ทั้งหมด จะมีการไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่และสร้างเหตุการณ์ตามรูปแบบคดีที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการดำเนินคดีอย่างเต็มใจ และตระหนักถึงผลของการละเมิดกฎหมายที่มีต่อสังคม ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ และเพื่อไม่ให้ปล่อยตัวปล่อยใจทำความผิดอีกในอนาคต การฟื้นฟูจึงมิได้ดำเนินเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้นแต่จะพิจารณาถึงหมู่คณะหรือในชุมชนที่อยู่อาศัยของผู้ถูกกล่าวหาด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกกล่าวหากลับไปอยู่ในสภาพแวดลัอมเดิมๆ อีก หลังจากที่ได้รับการฟื้นฟูตนเองแล้ว นั่นคือเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดการทำผิดครั้งแล้วครั้งเล่า

ส่วนระบบศาลที่เกี่ยวกับกฎหมายในทางโลกนั้น จะเปิดทางหรือให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเพื่อพิสูจน์ตนเองว่าเขาบริสุทธิ์ ในการพิจารณาคดีของศาลตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงศาลสูงสุด เมื่อพบว่ามีความผิดจะมีการสืบสวนข้อเท็จจริงในทุกๆศาลจนกระทั่งถึงศาลสูงสุด และในแต่ละศาลผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับอนุญาตให้พิสูจน์ตนเองได้ว่าเขาบริสุทธิ์ กระบวนการนี้ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเชื่อมั่นได้ว่า เขามีโอกาสพิสูจน์ตัวเองได้ในทุกๆขั้นตอนของกระบวนการดำเนินคดี ซึ่งทำให้ผู้ถูกกล่าวหารู้สึกว่าได้รับโอกาสทั้งหมด เท่าที่กระบวนการยุติธรรมจะสามารถเอื้ออำนวยให้ได้ และเมื่อมีการพิจารณาคดี ก็จะต้องดำเนินตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม และมีการลงโทษ หากผู้ถูกกล่าวหามีความผิดจริง

ตัวอย่างทั้งสองดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่นับถือศาสนาพุทธสามารถนำแนวคิดทางพุทธศาสนามาปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรมได้เป็นอย่างดี ด้วยความเชื่อที่ว่า ธรรมชาติของมนุษย์เป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และการปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาหรืออาชญากรด้วยความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ เป็นสิ่งจำเป็น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานต้องยึดหลักศีลธรรมอันดีงาม ในความรับผิดชอบของตน ผลจะออกมาเป็น “ หลักทฤษฎีปฎิรูปการลงโทษ ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่หวังจะเปลี่ยนคนไม่ให้คิดทำผิดอีก“ •
   
                 

 
HONGSAKUL.COM | ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP