English | Thai  





CONSTITUTION ISSUE
เล่มที่ 1 มิ.ย.-ก.ย. 50



ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ

รองศาสตร์จารย์ คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 
 
GUEST WRITERS:
ปลดพันธนาการให้สื่อสารมวลชน
โดย ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
     
                 
 
“อำนาจคือความชั่วร้ายที่จำเป็น” (Power is a necessary evil) ในการปกครองบ้านเมือง เป็นคำกล่าวของปราชญ์ทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ฝรั่งท่านหนึ่ง ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้เสียแล้วว่าเป็นใคร ?

ด้วยเหตุนี้จึงมีทฤษฎีทางการเมืองมากมายซับซ้อน เพื่อสร้างระบบควบคุมอำนาจให้ “ชั่วร้าย” น้อยที่สุด ที่มีอิทธิพลมาก ก็ได้แก่ ระบบไว้วางใจ (the trustful school of thought) เป็นระบบรัฐสภาของอังกฤษ และระบบที่ไม่ไว้วางใจ (the untrustful one) ต้องมีการตรวจสอบ และถ่วงดุล (checks and balances) ตามระบบของสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน นอกจากอำนาจรัฐ หรือ อำนาจปฏิวัติรัฐประหารแล้ว อำนาจทางความคิด การแสดงออกผ่านสื่อมวลชนต่างๆ เข้ามามีบทบาท ไม่แพ้อำนาจดังกล่าวเช่นกัน

หนังสือพิมพ์เป็นสื่อสาธารณะ ที่ค้นหาข้อเท็จจริงมาเผยแพร่สู่สาธารณชน และมีข้อความคิดความเห็นต่างๆ สู่สายตา และการศึกษาของประชาชน

สิ่งที่ไม่เคยรู้ ก็ถูกเปิดเผยให้รู้ได้

การปิดกั้นจำกัดข่าวสารของหนังสือพิมพ์ จึงเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาในสังคมที่ต้องการให้คนรอบรู้ หนังสือพิมพ์จึงต้องมีเสรีภาพในการเสนอข้อเท็จจริง และเป็นแหล่งแสดงความรู้และความคิดเห็นสู่ประชาชนทั่วไป ภาพหรือตัวหนังสือที่ผ่านสื่อต่างๆ จะซึมซาบเข้าสู่สมองของผู้อ่าน ค่อยๆสร้างอิทธิพลทางความคิดให้คล้อยตาม

ประชาชนจะนัดชุมนุม ...... สื่อ หรือ หนังสือพิมพ์ก็ประกาศให้
ใครจะไล่รัฐบาล หรือรักรัฐบาล ..... สื่อ หรือ หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวให้

สื่อสารมวลชนจึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อประชาชนอย่างมาก หากใช้กฎหมายปิดปากสื่อ อิสระในการรับรู้ข่าวสารก็จะหมดไป คนไทยก็จะโง่ลง

สื่อที่ดี จะทำให้ประชาชนรู้จักตัวเอง รู้จักสถานะของประเทศ สถานการณ์ของโลก เพื่อจะได้ทำใน สิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ประเทศชาติ และประชาคมโลกโดยรวม

อย่างไรก็ตาม การเป็นสื่อ ก็มีข้อจำกัดตรงที่ สื่อก็เป็น “อาชีพ” อย่างหนึ่ง ที่ต้องมีรายได้ “เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง”

สื่อ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีสีสัน มีแต่หัวข่าวขาวดำ เนื้อข่าวเยอะๆ จึงมักมีปัญหาด้านการตลาดเสมอมา ทั้งๆที่หนังสือพิมพ์ หรือสื่อประเภทนี้ มีสาระที่จะช่วยให้คนเรามีวิถีชีวิตดีขึ้นได้

สื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ที่เคยมีสาระ เคยเป็นที่พึ่งที่หวังที่ดีของคนอ่านได้ จึงจำต้อง “เปลี่ยนสี” เพื่อเอาตัวรอดไปตามยุคสมัย เพียงแต่หวังว่าเมื่อรอดแล้ว จะไม่ติดนิสัย “ใส่ไข่ ใส่สี” ไปตลอด ข่าวใดขายไม่ออก ก็ต้องบิดเบือนภาษาเล็กน้อย เพื่อให้ตื่นเต้นมีสีสัน ให้คนทะเลาะกัน จะได้มีข่าวให้ลงต่อๆ ไป

สื่อสมัยนี้จึงไม่ใช่ “ผู้เสนอข่าว” แต่กลายเป็น “ผู้ขายข่าว” ไปเสียส่วนใหญ่ เทคนิคในการบิดเบือนข่าว ก็อยู่ที่การใช้ภาษา เพื่อสื่อให้เข้าใจผิดๆ ไปได้ เพราะถ้าทุกอย่างถูกต้อง ก็ไม่มีใครสนใจในความถูกต้อง แต่หากลงข่าวให้ผิดๆ ก็จะมี “ผู้มีส่วนได้เสีย” ออกมาเต้น แก้ข่าว แก้กันไป แก้กันมา “ผู้ขายข่าว” ก็มี “ข่าวขาย” รอดตายไปได้อีกหลายมื้อเลยทีเดียว เรียกว่า “ข่าวร้ายขายดีเสมอ”

ตัวอย่างการสื่อให้สำคัญผิด มีให้เห็นเสมอๆ เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานศึกษา

ข้อเท็จจริงที่ให้ข่าวมีว่า
“มีผู้พบกลุ่มหนุ่มสาวประมาณ 10 คน เดินผ่านมาที่คณะรัฐศาสตร์ บางคนมีอาการมึนเมาเหมือนคนติดยา”

ผู้นำข่าวไปขาย รายงานว่า
“ยาบ้าระบาดหนักในมหาวิทยาลัย นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ติดกันงอมแงม”

ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงไม่ได้ระบุว่ากลุ่มหนุ่มสาวนั้นเป็นนักศึกษาหรือไม่ เพราะเพียงแค่เดินผ่าน แม้เป็นนักศึกษาก็ไม่ได้ระบุว่า เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ เพราะเพียงแค่ผ่านคณะนั้นเท่านั้น และความเมาที่พบก็อาจเกิดจากเมาสุรา หรือเมารถก็ได้ แต่กลับเหมาเอาว่าติดยา และการใช้คำว่านักศึกษาติดยากันงอมแงมให้ภาพที่น่ากลัวเกินความจริง อย่างนี้ไม่ใช่ผู้สื่อข่าว แต่เป็นผู้ขายข่าวโดยแท้

ข้อเท็จจริงมีว่า
“เคยพบหลักฐานเกี่ยวกับการใช้ยาเสพติดในห้องน้ำ”
ข่าวขาย รายงานว่า
“แฉมีการใช้ห้องน้ำซื้อขายยาเสพติด”

ข้อเท็จจริงมีว่า
“ถ้าฝ่ายปกครอง (ของสถานศึกษานั้นๆ) ตรวจพบว่าใครติดยา ก็จะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลจนหาย และเคยมี 2 รายที่หายแล้วก็เรียนจบได้งานดีๆ ทำ เป็นที่ภูมิใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะถือว่าได้แก้ปัญหาถูกทางแล้ว”
ข่าวขายรายงานว่า
“ผู้บริหารหนักใจ นักศึกษาติดยาจำนวนมาก” ตอนหายแล้ว กลับไม่ลงข่าว เพราะไม่สนุกปาก (กา)

ข้อเท็จจริงมีว่า
“เมื่อพบการซื้อขายยาเสพติด ก็ได้แจ้งตำรวจเข้ามาจับกุม ดำเนินการอย่างเฉียบขาด ฉับไว”
ข่าวขายรายงานว่า
“เมื่อพบการซื้อขายยา ได้ดำเนินการแจ้งตำรวจ แต่ตำรวจใช้วิธีการรุนแรง”

การใช้ภาษาที่ว่า “จัดการอย่างเฉียบขาด” ฉับไว กับการ “ใช้วิธีการรุนแรง” ความหมายต่างจากความตั้งใจทำ กลายเป็นการกระทำที่ชั่วร้ายไปเลย

ข้อความที่ผิดเพี้ยนไปเล็กน้อยดังกล่าว ทำให้ความหมายของเรื่องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากผู้เขียนข่าวมีความรับผิดชอบ ตระหนักถึงความเสียหายของผู้ที่เกี่ยวข้องตามสมควรแล้ว คงจะไม่จงใจทำให้ผิดพลาดเช่นนี้เป็นแน่

การเขียนข่าวที่ปะปนเอาความคิดเห็นและอคติของตนปนลงไปด้วย เป็นอันตรายอย่างหนึ่งของวงการสื่อ เพราะผู้รับสื่อบางครั้งไม่อาจแยกแยะได้ว่า อะไรเป็น “เนื้อข่าว, ข้อเท็จจริง หรือ ความคิดเห็น” ของผู้รายงานกันแน่

เสรีภาพของสื่อได้รับประกันไว้ใน(อดีต)รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ความว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน การสั่งปิดสื่อสิ่งพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อริดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้”

การล้มรัฐบาล การต่อต้านรัฐประหาร อาศัยข้อมูลข่าวสารและความเห็นผ่านสื่อ เป็นคุณูปการแก่ประชาชน ทำให้ประชาชน ความรู้สึกคล้อยตามได้

สื่อจึงเป็นผู้มีอิทธิพลมาก
เมื่อมีอิทธิพลมาก ก็มีอำนาจมาก
เมื่อมีอำนาจมาก ก็โน้มนำไปสู่ความชั่วร้ายได้มากเช่นกัน



ความเสียหายที่ประเมินไม่ได้ เกิดจากการพาดหัวข่าว

ข้อเท็จจริง ตำรวจเครียดเรื่องงานเลยยิงตัวตาย
พาดหัวข่าว ตำรวจกลุ้มใจเป็นเอดส์ ยิงตัวตาย

ข้อเท็จจริง รัฐบาลแถลงว่า มีรายชื่อผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ
พาดหัวข่าว รัฐบาลขึ้นบัญชีดำประชาชน

ข้อเท็จจริง รัฐบาลปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ
พาดหัวข้อ รัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชน

ฯลฯ


สื่อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจตรวจสอบทุจริต ไม่ว่าจะเป็น คตส. สตง. ปปช. ครม. คมช. แสดงบัญชีทรัพย์สิน เพื่อความโปร่งใส แต่หนังสือพิมพ์ไม่เคยแสดงบัญชีทรัพย์สินเพื่อความโปร่งใสเลย

เพียงแค่ถามถึง ก็ฟ้องศาลปกครองได้ สั่งห้ามแตะเสียแล้ว


จึงเกิดคำถามตามมาว่า

สื่อขุดคุ้ยทุจริต ...ใครจะขุดคุ้ยทุจริตของสื่อ???

สื่อโฆษณาความชั่วของผู้อื่น ...ใครจะโฆษณาความชั่วของสื่อ???

ท่านทะเลาะกับใครไปหาสื่อ ...ถ้าท่านทะเลาะกับสื่อจะไปหาใคร???


สื่อ ยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ ...ปล่อยให้เสรีไปเถิด!!! เพราะถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าไม่มีสื่อ ...




สื่อ ........ ก็คือความชั่วร้ายที่จำเป็น
   
                 

 
HONGSAKUL.COM | ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP