English | Thai  





ELECTION ISSUE
เล่มที่ 2 พ.ย.50 - ก.พ.51



Michael Doyle

Partner, Seri Manop & Doyle
                 
 
GUEST WRITERS:
ความคิดเห็นและบทวิเคราะห์ - รัฐบาลไทย กับ ยารักษาโรค
การบังคับใช้สิทธิบัตร (Compulsory Licensing) ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหัวข้อแรกในการอภิปรายหลักในโลก

โดย Michael Doyle
     
                 
 
ประเทศไทยถูกกล่าวถึงเป็นอันดับแรกในการอภิปรายหลักในโลก ในเรื่องการตัดสินใจบังคับใช้สิทธิบัตรในยาหลายชนิด

นี่เป็นหัวข้อใหญ่ทั้งในเรื่องผลกระทบเป็นเงินกว่าหลายพันล้านดอลล่าร์ของธุรกิจยารักษาโรคทั่วโลก ชื่อเสียงของประเทศไทยในตลาดโลก และผู้ป่วยที่จะได้รับผลประโยชน์จากการตัดสินใจ

ฝ่ายหนึ่งของการโต้เถียง จะมีบริษัทยายักษ์ใหญ่หลายบริษัท บรรดากองทัพล็อบบี้ยีสต์ และบริษัท PR จำนวนมาก พวกเขากล่าวหาว่าการกระทำของรัฐบาลไทยเป็นการผิดกฎหมายในสาระสำคัญ และน่าจะถูกตราหน้าจากประชาคมโลกว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ประเทศไทยขาดความเคารพต่อสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา

อีกฝ่ายหนึ่ง จะมีบิล คลินตัน พวกเอ็นจีโอหลายฝ่าย และรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ที่เชื่ออย่างมั่นคงว่าการกระทำของรัฐบาลไทยถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการพัฒนาในแง่บวกในโลก ที่ผู้ป่วยจำนวนนับล้านที่ไม่สามารถจ่ายค่ายาได้จะสามารถรอดชีวิตได้จากยารักษาโรค

เนื่องจากเป็นกรณีโต้แย้งที่ใหญ่และซับซ้อนมาก ผมคิดว่าคนจำนวนมากคงคิดว่ามันเรื่องยุ่งยากอะไรกันและจะมีผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร

ต่อไปนี้เป็นมุมมองของผม


การบังคับใช้สิทธิบัตรคืออะไร

การเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องของยาในประเทศไทย และในทุกแห่งที่ใช้กฎหมายสิทธิบัตร เมื่อคู่สัญญายื่นคำขอและได้รับสิทธิบัตรยาในประเทศไทย คู่สัญญาจะได้รับสิทธิเพียงผู้เดียวในระยะเวลา 20 ปี ในการผลิต จำหน่าย และใช้ยาตัวนั้น นี่เป็นสิทธิอำนาจแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็ต้องมีข้อยกเว้น หนึ่งในนั้น ก็คือการบังคับใช้สิทธิบัตรยา

การบังคับใช้สิทธิบัตรได้ระบุไว้ในข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิก ข้อตกลงนี้ได้กล่าวไว้ว่าในบางสถานะการณ์ รัฐบาลไทย (และรัฐบาลประเทศอื่น ๆ) อาจจะให้อนุญาตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแก่ผู้อื่นในการผลิตยาที่มีสิทธิบัตรบางตัว โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถือสิทธิบัตร สถานะการณ์เหล่านี้รวมถึงกรณีฉุกเฉินแห่งชาติ หรือกรณีที่เป็นการเร่งด่วนอย่างยิ่ง

ข้อกำหนดระบุว่า ก่อนที่รัฐบาลจะบังคับใช้สิทธิบัตรยา จะต้องมีการพยายามที่จะให้ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือสิทธิบัตรภายใต้ข้อกำหนดทางการค้าที่สมเหตุสมผล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และหากรัฐบาลได้บังคับใช้สิทธิบัตรยาแล้ว จะต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเพียงพอให้กับผู้ถือสิทธิบัตรยานั้น

ดังนั้น เพื่อที่จะให้รัฐบาลไทยดำเนินการบังคับใช้สิทธิบัตรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะต้อง

1. สามารถแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินแห่งชาติ หรือกรณีเร่งด่วนอย่างยิ่ง

2. มีการพยายามที่จะให้ได้อำนาจจากผู้ถือสิทธิบัตรภายใต้ข้อกำหนดทางการค้าที่สมเหตุสมผล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

3. เตรียมค่าตอบแทนอย่างเพียงพอให้กับผู้ถือสิทธิบัตรยาในการใช้สิทธิบัตรนั้น


ในกรณีนี้ที่รัฐบาลไทยบังคับใช้สิทธิบัตรยาเป็นการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ครับ ในความคิดเห็นของผม เป็นการโต้แย้งที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือว่ารัฐบาลไทยตัดสินใจอย่างถูกต้องตามกฎหมายในการบังคับใช้สิทธิบัตรยาในประเภทยาที่ระบุ

การโต้แย้งมีว่าการตัดสินใจของรัฐบาลไทยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนใหญ่จะสนใจที่ว่าราคายาเหล่านี้เหมาะสมสำหรับในกรณีฉุกเฉินแห่งชาติหรือกรณีเร่งด่วนอย่างยิ่งหรือไม่ บริษัทยาบอกว่า-ไม่ แต่รัฐบาลไทยบอกว่า-ใช่

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ แต่ในความคิดเห็นของผม สถานะของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้เป็นการโต้แย้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่น่าเชื่อถืออย่างมาก บางคนอาจจะคิดต่อไป และแย้งว่าข้อกำหนดของ WTO ดังกล่าวข้างต้น เป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาดังเช่นประเทศไทยในสถานะการณ์เช่นนี้


รัฐบาลไทยควรที่จะใช้วิธีการบังคับใช้สิทธิบัตรหรือไม่

คำถามนี้เป็นคำถามที่ยากที่จะตอบกว่ามาก เนื่องจากจะต้องคำนึงถึงเหตุผลหลายประการ เช่น ผลประโยชน์ระยะยาวของผู้ใช้ยา ผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทยาในการพัฒนายาชนิดใหม่ รวมถึงผลกระทบทางการค้า และสัมพันธภาพระหว่างรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ในการตอบคำถามดังกล่าว ผู้ตอบคำถามน่าที่จะเป็นนักการเมืองหรือนักเศรษฐศาสตร์ ผมไม่ใช่ทั้งสองอย่าง แต่นี่คือความเห็นของผมในข้อโต้แย้งหลักของบริษัทยา

ข้อโต้แย้งหนึ่งที่บริษัทยายกมาอ้างหลายครั้งหลายหน คือ การตัดสินใจของรัฐบาลอาจเป็นการยอมให้การบังคับใช้สิทธิบัตรทำได้ง่ายขึ้น เมื่อมีการบังคับใช้สิทธิบัตรยาแล้ว อะไรจะเป็นเรื่องต่อไป หนังสือเรียน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ

สำหรับผม ข้อโต้แย้งนี้ไม่ค่อยน่าฟังนัก จริงอยู่ที่การบังคับใช้สิทธิบัตรไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับบริษัทยาเท่านั้น ดังนั้น โดยหลักแล้วมาตรการนี้สามารถใช้กับหนังสือเรียน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นด้วย และมีคำกล่าวจากรัฐบาลไทยที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการขู่ว่าจะมีการบังคับใช้สิทธิบัตรในสิ่งเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไทยต้องการที่จะบังคับใช้สิทธิบัตรกับสิ่งเหล่านี้ ก็คงจะต้องใช้มาตรการเดียวกันในกรณีฉุกเฉินแห่งชาติหรือกรณีเร่งด่วนอย่างยิ่ง

จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ผมเห็นว่าชนิดของยาที่เป็นข้อโต้แย้งกันนี้ อาจจะราคาสูงเกินไปสำหรับประชากรไทยจำนวนมาก แต่คงจะเป็นการยากที่จะปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวกับหนังสือเรียน หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะพยายามทำข้อโต้แย้งนี้ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งวัน เพราะมันผิวเผินเกินไป ข้อโต้แย้งอีกข้อที่คุณจะเห็นว่าบริษัทยาใช้ ก็คือ การบังคับใช้สิทธิบัตรนั้นไม่เป็นธรรม เพราะทำให้ผลตอบแทนสำหรับผู้ถือหุ้นในบริษัทยาเหล่านี้ลดลง


สำหรับผมแล้ว ผมไม่ชอบเหตุผลนี้เลย

อย่าเพิ่งครับ อย่าเพิ่งเข้าใจผมผิด ผมเห็นใจผู้ที่ใช้เงินที่หามาได้ด้วยความยากเย็นในการลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทยาที่เป็นบริษัทมหาชน แต่ไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น และผมก็ยอมรับว่า หากการบังคับใช้สิทธิบัตรกลายเป็นสิ่งที่ใช้กันแพร่หลายแล้ว คงจะทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อผลตอบแทนจากการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ผมก็เห็นใจคนยากคนจนที่เป็นโรคร้ายแรงที่ต้องการยาเหล่านี้มากกว่ามาก และคิดว่าเป็นเรื่องที่ลำบากในการเปรียบเทียบประโยชน์ของกลุ่มสองกลุ่มนี้

ถึงกระนั้น บริษัทยาก็ยังหาข้อโต้แย้งที่ยากจะคัดค้านขึ้นมาต่อต้านการบังคับใช้สิทธิบัตร

ข้อโต้แย้งนั้นก็คือ ในการที่จะพัฒนายาชนิดใหม่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ บริษัทยาจะต้องลงทุนในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเป็นเวลาหลายปีและนับเป็นจำนวนเงินหลายล้านดอลลาร์

หากรัฐบาลเริ่มใช้วิธีการบังคับใช้สิทธิบัตรกับยาหลายประเภท ก็จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างเด่นชัดในทางลบกับบริษัทยา อันเป็นการบั่นทอนความสามารถในการพัฒนายาชนิดใหม่ให้ลดลง

สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เนื่องจากจะเป็นการถ่วงเวลาและชะลอการเกิดนวัตกรรมใหม่ในตลาดอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งของโลก

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ประเทศไทย (รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่อาจจะมีการบังคับใช้สิทธิบัตร) จะพิจารณาใช้สิทธิทางกฎหมายนี้อย่างถูกต้อง การที่ประเทศมีสิทธิตามกฎหมายในการกระทำบางสิ่งบางอย่าง ไม่ได้หมายความว่าจะกระทำหรือใช้สิทธินั้นเมื่อไรก็ได้ตามต้องการ

อนึ่ง หากรัฐบาลไทยเริ่มที่จะเพิ่มชนิดยาที่จะบังคับใช้สิทธิบัตรอย่างไม่เป็นธรรม รัฐบาลจะเสียหลักจริยธรรมที่ในปัจจุบันเป็นเหตุผลโต้แย้งกับบริษัทยา และจะเสียการสนับสนุนที่ได้รับจากนานาประเทศ

ถึงปัจจุบัน ผมคิดว่ารัฐบาลไทยยังไม่ได้ละเมิดสิทธิในการบังคับใช้สิทธิบัตรนี้ และในความเห็นของผม ผมเห็นว่าเหตุผลของรัฐบาลไทยเป็นเหตุผลของฝ่ายที่ถูกต้องในข้อโต้แย้งนี้ •
 



 
                 

 
HONGSAKUL.COM | ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP