English
|
Thai
CONSTITUTION ISSUE
เล่มที่ 1 มิ.ย.-ก.ย. 50
Jason Howe
Conflict Zone Photojournalist,
Pulitzer Prize Nominee
PHOTO ESSAY:
บนแผ่นดินอันไร้กฎหมาย
โดย Jason Howe
ถ้าหากซัดดัม ฮุสเซนหลบหนีบ่วงประหารชีวิตของเพชรฆาตไปได้และได้รับการปล่อยตัวกลับไปยังกรุงแบกแดด ผมคง แคลงใจเป็นอย่างยิ่งว่าเขาจะสามารถหาทางกลับบ้านได้หรือไม่
ฝ่ายกลุ่มคนที่เคยเรืองรองภายใต้ระบบการปกครองที่เหี้ยมโหดของซัดดัมและฝ่ายประชาชน คนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องล้มลุกคลุกคลาน ต้องผจญกับความกลัวและความยากจนข้นแค้น ก็ง่วนอยู่กับการโจมตีกันเองอย่างเอาเป็นเอาตาย กองกำลังที่รุกล้ำเข้ามาได้สร้างกำแพงคอนกรีตสำหรับกันระเบิด และรั้วลวดหนามติดใบมีดยาวหลายกิโลเมตรเพื่อปกป้องตัวเองจากเหล่ามือวางระเบิดพลีชีพ ซึ่งการเดินทางกลับไปยังทำเนียบของซัดดัมนั้นป่านนี้น่าจะกลายเป็นเส้นทางอนุกรมที่ทั้งอ้อมและวกวน ระบบจราจรทั่วทุกหนทุกแห่งก็บังคับให้เดินรถทางเดียว ถนนหลาย สายถูกปิด และมีการตั้งด่านตรวจ ตามจุดต่างๆ อย่างไม่จบสิ้น
เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นระเบียบและมีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างราบรื่น ได้แตกสลายเหมือนกับเมืองอื่นๆ ในประเทศจนกลายเป็นหายนะอย่างที่สุด กองทัพทหารได้ทำลายล้างโครงสร้างพื้นฐานถนนหนทางจนหมดสิ้น แผนการต่างๆ หรือน่าจะเรียกว่า าไม่มีแผนการ า มากกว่า ได้ทำให้เกิดการโยกย้ายบรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ปล่อยให้บริเวณแถบชายแดน มีช่องโหว่เปิดโล่งโดยไร้ผู้ควบคุมดูแล ชาวต่างชาติที่มีใจเอนเอียงก็สามารถแห่กันข้ามชายแดนเข้ามาร่วมสงครามศาสนา หรือจิฮาด ได้อย่างสบาย
การปกครองที่ทารุณอำมหิตของซัดดัมไม่ได้สร้างประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศเลย การกำจัดเขาออกไป จึงถือเป็นการนำมาซึ่งโอกาสครั้งใหม่ที่จะทำให้อิรักได้กลายเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตย และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวเป็นผลทำให้ประชาชนพากันต้อนรับกองทัพสหรัฐด้วยเสียงโห่ร้องยินดีและรอยยิ้ม เมื่อตอนที่กองทัพเดินทางมาถึงแหล่งสลัมในเมืองซาดร์ (Sadr City) ซึ่งเป็นย่านหนึ่งในกรุงแบกแดดที่มีผู้นับถือนิกายชีอะห์อาศัยอยู่มาก ทหารสหรัฐเป็นดั่งพระที่มาโปรดพวกเขา เป็นผู้ ซึ่งนำอิสรภาพ น้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด ไฟฟ้า และอาชีพต่างๆ มาให้ประชาชนผู้ถูกกดขี่ข่มเหงเหล่านี้
เมื่อล่วงเข้าเดือนธันวาคม 2003 การปล้นสะดมที่บ้าคลั่งซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์กรุงแบกแดดล่มสลายก็ได้บรรเทาลง ความเงียบสงบปกคลุมไปทั่วประเทศ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีความระส่ำระสาย อันเนื่องมาจากมีการวางระเบิดรถยนต์และการโจมตีด้วยปืนเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ประชาชนต่างโกรธแค้นและได้สู้กลับเช่นกัน บรรดาผู้ไม่สบอารมณ์ได้แตกออกเป็นหลายๆ กลุ่มด้วยกัน ชาวซุนหนี่ไม่พอใจอย่างยิ่งที่ถูกถอดถอนตำแหน่งอำนาจและอภิสิทธิ์ ส่วนชาวชีอะห์และชาวเคิร์ด ผู้เป็นเบี้ยล่างของซัดดัมเสมอมา พวกเขาไม่ได้สิ่งที่ต้องการเร็วดั่งใจนึก รวมทั้งอิทธิพลภายนอก ผู้ซึ่งริษยาในความมั่งคั่งและสถานะในด้านศาสนาของอิรักมาเป็นเวลานาน ก็รีบมาช่วยจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กลุ่มก่อการกบฏและทหารกองหนุน ซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในบ้านเมืองต่อไปอีก กลุ่มอัลเคดาซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือขับไล่ชาวอเมริกันและอิทธิพลของชาวอเมริกันออกไปจากดินแดนมุสลิม กลุ่มดังกล่าวนี้ได้รวมตัวกันอย่างรวดเร็วกลายเป็นกองกำลังที่ทรงพลังและร้ายกาจยิ่งภายในประเทศอิรัก
ตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมได้ไปเยือนอิรัก จนถึงทุกวันนี้ เดือนแล้วเดือนเล่าที่ผมได้เห็นคุณภาพชีวิตของพลเมืองชาวอิรักที่ย่ำแย่ลงกับตาของตัวเอง เป็น เพราะพวกเขาต้องใช้ชีวิตที่ต้องฝ่าฟันอันตราย จึงทำให้เป็นการยากยิ่งที่นักข่าวจะสามารถหาภาพชีวิตประจำวันของชาวอิรักที่ชัดเจนมาได้ ในช่วงฤดูหนาว ปี 2003 ตอนนั้น เรายังสามารถเห็นชาวต่างชาติเดินจับจ่ายซื้อของในตลาดแบกแดดหรือไปทานอาหารในภัตตาคารได้อยู่ เราสามารถพูดคุยกับผู้คนบนถนนในฐานะนักข่าว และเดินทางไปทั่วประเทศอิรักได้อย่างอิสระ ความกลัวหลักๆ ของเราในตอนนั้นก็แค่ กลัวว่าจะถูกโจรลอบทำร้าย การจี้ ลักโขมยรถยนต์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เจอได้บ่อย และการลักพาตัวก็เพิ่งจะเริ่มปรากฏให้เห็น
เมื่อถึงเดือนเมษายน 2004 กลุ่มก่อจลาจลชาวชีอะห์ได้เข้ายึดเมืองซาดร์ในกรุงแบกแดด และเมืองนาจาฟ (Najaf) ซึ่งอยู่ทางใต้เอาไว้ นักข่าวและช่างภาพเต็มลำเครื่องบินพากันบินออกจากประเทศเนื่องจากความอดทน หรืออาจเรียกได้ว่า เลือดแห่งความเป็นนักสังเกตการณ์และนักข่าวได้ขาดสะบั้นลง ผู้รับเหมาหลายรายถูกลักพาตัวและถูกตัดศีรษะ ไม่ก็ถูกปลิดชีวิตด้วยระเบิดข้างถนน การจะใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ชาวอิรักไม่เข้าใจว่า ภารกิจนี้ผิดพลาดอย่างร้ายแรงไปได้อย่างไร อันที่จริงชาวอเมริกันเองก็ไม่สามารถเข้าใจได้เช่นกัน เหล่าทหารผู้เคยได้รับช่อดอกไม้จากชาวบ้าน ในช่วงไม่ถึงปีที่ผ่านมา ตอนนี้กลับกลายเป็นถูกขว้างก้อนหินใส่ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงวันดีๆ ในอดีต เมื่อถึงคราวที่วันแย่ๆ มาเยือน พวกเขากลับต้องมาเก็บชิ้นส่วนของเพื่อนทหารใส่ถุงห่อศพหลังเกิดเหตุวางระเบิดที่เกิดขึ้นคราแล้วคราเล่า
ก่อนจะถึงสิ้นปี ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าประเทศอิรักนี้ได้ก้าวเข้าสู่วิกฤต ดิ่งลงเหวอันเลวร้ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การใช้รถใช้ถนนนอกกรุงแบกแดดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แม้แต่การจราจรภายในกรุงแบกแดดเอง ก็ยังต้องระวังมากเป็นพิเศษ องค์กรสื่อสารมวลชนหลายองค์กรได้จ้างผู้คุ้มกันติดอาวุธ และได้ซื้อพาหนะติดเกราะเพื่อปกป้องชีวิตของเหล่าผู้สื่อข่าวขององค์กรตัวเองไว้ พวกนักข่าวอิสระก็จำต้องทนกับเหล่าแท็กซี่ที่โหดร้ายทารุณ พวกเขาขอเพียงอยู่รอดไปได้โดยไม่ตกเป็นเป้าก็พอ ไม่มีผู้สื่อข่าวอาศัยอยู่ในบ้านส่วนตัวต่อสักคน ตอนนี้พวกเขารวมกันอยู่ในโรงแรมโทรมๆ ที่มีอยู่สองคอมเพลกซ์ด้วยกัน อันได้แก่คอมเพลกซ์ของปาเลสไตน์และของอัล ฮัมรา ซึ่งอยู่ด้านนอกของ “เซฟ เฮเว่น” (หลุมหลบภัย) ที่รู้จักกันในชื่อ ‘กรีน โซน’
ในปี 2005 บรรดา าหลุมหลบภัยำ ก็ถูกโจมตีโดยมือระเบิดพลีชีพไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งภายในช่วงเวลาหนึ่งเดือน ผมกำลังนอนหลับอยู่ในคอมเพลกซ์อัล ฮัมรา เมื่อตอนที่กระจกหน้าต่างห้องผมแตกกระจาย กระเด็นเข้ามาในห้อง เนื่องจากรถยนต์บรรทุกระเบิดหนัก 200 กิโลกรัม พุ่งเข้าชนกำแพงนิรภัยแล้วเกิดระเบิดขึ้น สักพักต่อมาก็เกิดระเบิดขึ้นอีกครั้งซึ่งหนักกว่ารอบแรก เพราะคราวนี้ระเบิดหนักถึง 500 กิโลกรัม แรงระเบิดทำให้กรอบหน้าต่างหลุดออกจากกำแพง เพดานในห้องโถงถล่มลงมา และประตูก็กระเด็นออกมา บานพับหลุดหมดทุกบาน
ที่สุดแล้ว ผมก็รู้สึกเหมือนว่าผมเข้าใจคนอิรักอย่างแท้จริง เข้าใจถึงสิ่งที่พวกเขาต้องผจญอยู่ทุกวันระหว่างท างไปทำงานหรือไปโรงเรียนก็ดี ความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยสุมเต็มอกและแผ่ซ่านไปทั่วอิรัก ทั้งบรรดามือระเบิดพลีชีพและกองสังหารที่เที่ยวฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปทั่วอิรัก แถมกองกำลังพันธมิตรระหว่างชาติชั่วคราวที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ก็ยอมรับว่าแค่ในเมืองหลวงพวกเขายังไม่สามารถควบคุมได้เลย นับประสาอะไรกับเมืองอื่นๆ ในประเทศ แล้วประเทศอิรักจะมีความหวังอยู่บ้างหรือเปล่า? อิรักจะกลายเป็นเหมือนโซมาเลียหรือไม่? หรืออิรักได้ถูกลิขิตให้เป็นได้ไม่มากไปกว่าทศวรรษแห่งความตาย การทำลายล้าง และความเศร้าสลด?
ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกำลังประสบกับผลลัพธ์ที่ไม่คาดฝันจากการกระทำอันเลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นในอิรัก ซึ่งกระทำโดยกองกำลังพันธมิตรระหว่างชาติ ได้มีเหตุระเบิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งในกรุงลอนดอนและกรุงแมดริด บาหลีก็ชะงักไปกับเหตุการณ์วางระเบิดที่โหดเหี้ยมอำมหิต และกลุ่มผู้ก่อการจราจล ในสามจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ก็กำลังเผชิญกับสภาพที่แตกต่างและซับซ้อน
ขณะที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้าในด้านเทคโนโลยี กลับดูเหมือนว่าในด้านความเปิดกว้างทางเชื้อชาติและศาสนานั้นถดถอยลง การกระทำของเหล่าผู้สร้างจักรวรรดิใหม่ทำให้มีคนหัวรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยพอใจแล้วที่จะไม่รู้ร้อนรู้หนาวแล้วทำธุรกิจของตัวเองไป ตอนนี้พวกเขาพร้อมที่จะตายเพื่อจะได้กล่าวคำแถลงการณ์ เพื่อปกป้องวัฒนธรรมและศาสนาของตัวเอง
ผมรู้สึกโชคดีมากที่มีโอกาสได้เดินทางไปยังสถานที่ที่เกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้นและควบคุมไม่ได้หลายๆ ที่ อย่างอิรัก อัฟกานิสถาน เลบานอน และโคลัมเบีย และมีโอกาสได้บันทึกเหตุการณ์ด้วยตัวเอง ถึงผลกระทบของความขัดแย้งต่อทั้งคนท้องถิ่นและทุกๆ ฝ่ายที่ทำการต่อสู้และโจมตี อาจเป็นสิ่งที่น่าหดหู่ที่ได้เห็นกับตาถึงวงจรของความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่หลายๆ ประเทศและหลายๆ ภูมิภาคต้องเผชิญกัน ก็ได้แต่หวังว่าเรื่องราวและภาพต่างๆ จากความขัดแย้งทั้งหลายเหล่านี้จะสามารถช่วยให้เกิดหนทางสู่การยุติวงจรอุบาทว์นี้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง •
HONGSAKUL.COM
| ABOUT US | CONTACT US | SITE MAP